หน้าแรกที่เที่ยวเที่ยวชมพระธาตุเจดีย์หลวง องค์ใหญ่ที่สุดแห่งอาณาจักรล้านนา

เที่ยวชมพระธาตุเจดีย์หลวง องค์ใหญ่ที่สุดแห่งอาณาจักรล้านนา

วัดเจดีย์หลวง (4)องค์เจดีย์หลวง

       สักวา
จะค้นพบ
พื้นพิภพ
บนเวหา
แดนดิน
แดนใด
ทั่วทั้ง
สรวงสวรรค์
ถิ่นสงบ
สุดใฝ่หา
ฝั่งคงคา
ชั้นพรหมินทร์

        แดนสงบ
ใจชุ่มชื่น
ใจสงบ
ถิ่นสงบ
พบที่ใจ
ด้วยความดี
พบความสุข
พบได้
ใช่ที่อื่น
ใจมีศีล
ทั่วแดนดิน
ที่ใจเอย.

พระพุทธพจนวราภรณ์ ( จันทร์ กุสโล )

ท็อปเชียงใหม่พาเพื่อน ๆ เข้าวัดเพื่อมาสงบจิตสงบใจ ที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่เจ้า วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ สำหรับเพื่อน ๆ คนไหนที่มาเที่ยวเมืองเชียงใหม่แล้วยังไม่เคยมาเที่ยวชมปูชนียสถานและโบราณวัตถุที่วัดแห่งนี้ ก็เตรียมตัวเข้าวัดไปกับท็อปเชียงใหม่เลยนะครับ

ก่อนที่จะไปเที่ยวชมในแต่ละจุด มาทำความรู้จักวัดเจดีย์หลวงกันก่อนดีกว่า วัดเจดีย์หลวงเดิมชื่อวัดโชติการาม หรือ ราชกุฏาคาร สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา แห่งราชวงศ์มังราย วัดแห่งนี้เป็นอารามหลวงแบบโบราณที่แบ่งเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสไว้เป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน วัดเจดีย์หลวง ตั้งแต่โบราณกาลได้ถือเอาพระธาตุเจดีย์หลวงเป็นเนมิตกนาม ( คำว่าหลวง แปลว่าใหญ่ ) จึงกล่าวได้ว่าเป็นเจติยสถานโบราณสูงใหญ่ที่สุดแห่งอาณาจักรล้านนา

วัดเจดีย์หลวง (5)ด้านหน้าวัดเจดีย์หลวง

วัดเจดีย์หลวงวรวิหารเป็นวัดที่มีปูชนียสถาน และโบราณวัตถุเก่าแก่ที่สำคัญ  ด้วยเหตุนี้เองจึงมีพุทธศาสนิกชน และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต่างหลั่งไหลเข้ามากราบไหว้บูชา และมาทัศนศึกษาเพื่อสัมผัสกับศิลปสถาปัตยกรรมเก่าแก่ ซึ่งเป็นมรดกทรัพย์สินทางศรัทธาของชาวล้านนา นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาไม่ว่าจะเป็นงานบุญต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งงานศพ

สถานที่สำคัญจุดแรกที่ท็อปเชียงใหม่จะพาเพื่อน ๆ เข้าไปเที่ยวชมก็คือพระวิหารหลวง เป็นสถาปัตยกรรมทรงล้านนาประยุกต์ สร้างครั้งแรกโดยพระนางติโลกะจุดา พระราชมารดาของพระเจ้าสามฝั่งแกน พร้อมทั้งได้หล่อพระอัฏฐารสพุทธปฏิมาประธาน และพระอัครสาวกโมคคัลาน์ สารีบุตร ประดิษฐานไว้ในพระวิหาร เมื่อกาลเวลาผ่านไป วิหารก็ได้ผุพังลงมา ก็เกิดการบูรณะปฏิสังขรณ์เรื่อยมา จนปัจจุบันถือว่าเป็นสร้างครั้งที่ 6 โดยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่

วัดเจดีย์หลวง (1)วัดเจดีย์หลวง (13) วัดเจดีย์หลวง (38)วัดเจดีย์หลวง (15)

ส่วนสองข้างบันไดทางเข้าประตูหน้าพระวิหาร เหนือราวบันไดก่อเป็นรูปพญานาคคู่ชูเศียร หางตระหวัดพันกันในซุ้มบนประตู ทำได้สัดส่วน สีสันลายปูนปั้นเกล็ดนาค ฝีมือประณีตสวยงามมาก กล่าวกันว่าเป็นรูปพญานาคที่สวยที่สุดในภาคเหนือ ปัจจุบันวิหารหลวงเป็นทั้งพระวิหารและพระอุโบสถในหลังเดียวกัน ทั้งนี้ก็เพราะพระอุโบสถหลังเก่าที่เป็นศิลปะแบบล้านนาดั้งเดิมที่อยู่หลังวัดตะวันตกของพระเจดีย์ ได้ทรุดโทรมและเลิกใช้งาน

เมื่อเข้าชมพระวิหารหลวงแล้วสิ่งที่พลาดไม่ได้ก็คือ การกราบนมัสการพระอัฏฐารส ซึ่งเป็นพระพุทธปฏิมาประธานในพระวิหารหลวง เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสำริด ปางห้ามญาติสูง 8.23 เมตร พร้อมทั้งพระอัครสาวก คือ พระโมคคัลลานะ สูง 4.43 เมตร และพระสารีบุตร สูง 4.19 เมตร หล่อโดยพระนางติโลกะจุดา  เมื่อพ.ศ. 1955 นอกจากนี้ยังได้ทำการหล่อพระพุทธรูปปางต่าง ๆ จำนวนมาก ประดิษฐานรายล้อมพระอัฏฐารสอยู่ด้านหน้าและผินพระพักตร์สู่ทิศต่าง ๆ ซึ่งการหล่อพระพุทธรูปขนาดต่าง ๆ ในครั้งนั้น ต้องใช้เบ้าเตาหลอมทองจำนวนมากเป็นพันเตาพันเบ้า และในการต่อมาสถานที่ที่ตั้งเตาหลอมทองหล่อพระพุทธรูปนั้นได้สร้างเป็นวัดและเรียกชื่อว่า วัดพันเตา

วัดเจดีย์หลวง (17)วัดเจดีย์หลวง (21) วัดเจดีย์หลวง (22) วัดเจดีย์หลวง (23) วัดเจดีย์หลวง (35) วัดเจดีย์หลวง (28)
วัดเจดีย์หลวง (31)วัดเจดีย์หลวง (32)วัดเจดีย์หลวง (26)วัดเจดีย์หลวง (42)

อีกจุดหนึ่งที่สำคัญคือวิหารเสาอินทขิล หรือหลักเมืองเชียงใหม่ ตั้งอยู่ในวิหารอินทขิล วิหารอินทขิลเป็นอาคารแบบจตุรมุข รูปลักษณ์คล้ายมณฑป หลังคาสองชั้น ๆ ชั้นล่างมี 4 มุข ชั้นบนมี 2 มุข เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มุงด้วยไม้เกล็ด หน้ามุขชั้นล่างทั้ง ๔ มุขและหน้าบันมุขชั้นบนทั้ง ๒ มุข มีลายเขียนสี และเหนือหน้าบันมีช่อฟ้าใบระกาปิดกระจกสีศิลปกรรมล้านนาสวยงามมาก  เสาอินทขิลตั้งอยู่กึ่งกลางวิหารอินทขิลเป็นเสาปูนปั้นติดกระจกสี สูง 1.35.5 เมตร วัดรอบเสาได้ 5.67 เมตร เสาอินทขิลสร้างขึ้นเมื่อครั้งพระเจ้ามังรายสร้างนครเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ.1839

วัดเจดีย์หลวง (2)หออินทขิล ศาลหลักเมืองเชียงใหม่

วัดเจดีย์หลวง (10) วัดเจดีย์หลวง (14)

เสาอินทขิลถือมีฐานะเป็นเสื้อเมือง ปกป้องคุ้มครองรักษาเมืองเชียงใหม่ และบันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ และเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่เมืองเชียงใหม่และผู้คนชาวเชียงใหม่ เพื่อให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ในแต่ละปีจะมีการจัดงานฉลองสมโภชเสาอินทขิลเป็นเวลา 7 วัน ด้วยการบูชาด้วยข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน น้ำอบน้ำหอม การละเล่นพื้นเมืองศิลปะพื้นบ้านต่าง ๆ ที่เรียกว่า ประเพณีบูชา

มาต่อกันที่พระธาตุเจดีย์หลวงถือว่าเป็นพระธาตุที่มีความสูงที่สุดในภาคเหนือ หรือล้านนา คือ สูงประมาณ 80 เมตร ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างประมาณด้านละ 60 เมตร สร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ถือว่าเป็นเจดีย์ที่มีความสำคัญที่สุดของเมืองเชียงใหม่  พระธาตุเจดีย์หลวงนั้นถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยพญาแสนเมืองมา (พ.ศ. 1928 – 1945) กษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่ปกครองเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้น สร้างขึ้นเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้พญากือนา พระราชบิดา ซึ่งมีตำนานเล่ามาว่า พญากือนาที่สวรรคตไปแล้ว ได้ปรากฏตัวแก่พ่อค้าชาวเชียงใหม่ที่เดินทางไปค้าขายที่พม่า ให้มาบอกว่าแก่พญาแสนเมืองมาผู้เป็นโอรสว่า ให้สร้างเจดีย์ไว้ท่ามกลางเวียง ให้สูงใหญ่พอให้คนที่อยู่ไกล 2000 วา สามารถมองเห็นได้ แล้วอุทิศบุญกุศลเหล่านี้ให้แก่พญากือนา เพื่อให้พญากือนานั้นสามารถไปเกิดในเทวโลกได้ แต่พญาแสนเมืองมาเสด็จสวรรคตเสียก่อน พระนางเจ้าติโลกจุฑาราชเทวีผู้เป็นมเหสีได้สืบทอด เจตนารมณ์สร้างต่อ จนเสร็จในรัชสมัยพญาสามฝั่งแกน ใช้เวลาสร้าง 5 ปี

วัดเจดีย์หลวง (3)พระธาตุเจดีย์หลวงถือว่าเป็นพระธาตุที่มีความสูงที่สุดในภาคเหนือ

วัดเจดีย์หลวง (49) วัดเจดีย์หลวง (54) วัดเจดีย์หลวง (55)

ต่อมาได้มีการปฏิสังขรณ์ในสมัยพญาติโลกราช (พ.ศ. 1984 – 2030) พระองค์โปรดให้หมื่นด้ามพร้าคต นายช่างใหญ่ทำการปฏิสังขรณ์ โดยมีพระมหาสวามีสัทธัมกิติ เจ้าอาวาสองค์ที่ 7 ของวัดโชติการาม (วัดเจดีย์หลวง) เป็นกำลังสำคัญในการควบคุมดูแล และประสานงาน การปฏิรูปและก่อสร้างครั้งนี้ได้สร้างขยายเจดีย์ให้ใหญ่กว่าเดิม ใช้เวลาในการก่อสร้าง 3 ปี จึงแล้วเสร็จ  ในสมัยมหาเทวีจิรประภา รัชกาลที่ 15 แห่งราชวงศ์มังราย เกิดพายุฝนตกหนัก แผ่นดินไหว พระมหาเจดีย์หลวงได้พังทลายลงมาเหลือเพียงครึ่งองค์ จากนั้นก็ถูกปล่อยทิ้งร้างไปนานกว่า 4 ศตวรรษ พระมหาเจดีย์หลวงที่เห็นปัจจุบันกรมศิลปกรเพิ่งจะบูรณปฏิสังขรณ์เสร็จไปเมื่อ พ.ศ. 2535

เดินต่อมาด้านหลังพระวิหารหลวงก็จะพบกับพระนอน หรือพระพุทธไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่กับพระเจีดย์ สร้างด้วยการก่ออิฐฉาบปูนปิดทอง พุทธลักษณ์สวยงามมาก หันพระเศียรสู่ทิศใต้ พระพักตร์หันเข้าหาองค์พระเจดีย์ ถัดจากพระนอนก็จะเป็นวิหารจตุรมุขบูรพา ภายในเป็นที่ประดิษฐานองค์หลวงปู่มั่น และล้อมรอบด้วยภาพถ่ายพระบรมสารีริกธาตุของพระเกจิชื่อดัง ซึ่งถือว่าเป็นภาพที่ล้ำค่าอย่างยิ่ง

วัดเจดีย์หลวง (46)พระพุทธไสยาสน์

วัดเจดีย์หลวง (45) วัดเจดีย์หลวง (48) วัดเจดีย์หลวง (50)วัดเจดีย์หลวง (51)

ถัดมาก็จะเป็นกุฎิแก้วนวรัฐ ซึ่งเป็นกุฏิหลังแรกของวัด ที่เป็นถาวรวัตถุ สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง เป็นอาคารไม้สองชั้น หันหน้าไปทางพระวิหารทางทิศเหนือ มีสามมุข มุขกลางคือมุขจามรี มุขตะวันตกคือมุขราชบุตร และมุขตะวันออกคือมุขแก้วนวรัฐ ซึ่งเป็นส่วนของอาคารกุฏแก้วนวรัฐเมื่อสร้างครั้งแรก ปูพื้นด้วยกระดานไม้สักเชื่อมต่อกันทั้งสามมุข มุงด้วยกระเบื้องดินพื้นเมือง กุฏิแก้วนวรัฐหลังนี้ สมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับการอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่ แม้ว่าจะมีการปรับปรุงซ่อมแซมใหม่ ก็ควรที่จะรักษารูปเดิมไว้ แล้วทำเป็นอาคารสำหรับเก็บรักษาศิลปวัตถุและปูชนียวัตถุและของมีค่าเก่าแก่ต่าง ๆ ในวัด นำมารวบรวมจัดแจงไว้เป็นหมวดหมู่ไว้เป็นแบบพิพิธภัณฑ์ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก

วัดเจดีย์หลวง (53)

นอกจากนี้วัดเจดีย์หลวง ยังเป็นศูนย์กลางการบริหารการศึกษาของคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตในภาคเหนือ โดยเฉพาะด้านการศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกนักธรรม และบาลีไวยากรณ์ อีกทั้งเปิดเป็นศูนย์การศึกษาธรรมบาลี และเปิดสอนปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ซึ่งเปิดโอกาสให้พระสงฆ์สามเณรทุกคณะนิกายเข้ามาเรียนร่วมกัน ซึ่งปัจจุบันมีสถานศึกษาในระดับต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับมัธมศึกษา ระดับอุดมศึกษา ระดับปริญญาโท รวมทั้งเปิดสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพครูอีกด้วย

เรียกได้ว่าวัดเจดีย์หลวงวรวิหารแห่งนี้ เป็นทั้งสถานที่ทางพุทธศาสนา และเป็นแหล่งให้ความรู้ไม่ว่าจะเป็นบุคคลในระดับไหน เพศไหน และวัยไหน  ท็อปเชียงใหม่อยากจะให้เพื่อน ๆ ลองมาเที่ยวในแบบพุทธศาสตร์บ้าง ถึงแม้ว่าในบางครั้งจะดูน่าเบื่อ แต่รับรองว่าอิ่มใจและอิ่มบุญอย่างแน่นอน สำหรับเพื่อน ๆ ที่ยังไม่เคยมาเที่ยววัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ก็ยังไม่สายที่จะมาเที่ยวในวันหยุดสุดสัปดาห์นี้


ติดต่อเช่ารถพร้อมคนขับ/ซื้อสินค้า/โฆษณาข่าวสาร
Add friend ที่ @topcm
เพิ่มเพื่อน
บทความที่เกี่ยวข้อง
- Advertisment -