ท็อปเชียงใหม่พาไปนมัสการหลวงพ่อเพชรที่วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร วัดคู่บ้านคู่เมืองอำเภอจอมทองครับ และเป็นวัดประจำปีชวด(ปีหนู) นักท่องเที่ยวหลายๆ คนนิยมมาแวะที่นี้ก่อนขึ้นไปเที่ยวดอยอินทนนท์ หรือหาเหมารถเที่ยวกันต่อไป เพราะบริเวณหน้าวัดพระธาตุศรีจอมทองเหมาะแก่การแวะมากๆ มีตลาดของกิน ของใช้ 7-11 และเป็นจุดจอดรถสองแถวสีเหลืองอีกด้วยครับ
วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เดิมชื่อ วัดพระธาตุศรีจอมทอง ตั้งอยู่ถนน เชียงใหม่ – ฮอด หมู่ 2 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ประมาณ 58 กิโลเมตร
วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 บริเวรที่ตั้ง บนเนินดินสูง ประมาณ 10 เมตร เรียกกันมาตั้งแต่อดีตว่า ดอยจอมทอง ตามประวัติสันนิษฐานว่า เป็นวัดที่สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 20 แต่จากลักษณะทางศิลปกรรมของสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ภายในวัด ปรากฏเป็นลักษณะของศิลปกรรมในสมัยหลังพุทธศตวรรษที่ 24 ซึ่งเป็นห้วงระยะเวลาของยุคฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่
พ.ศ. 1994 สร้างบนดอยจอมทอง ชื่อว่า วัดพระธาตุศรีจอมทอง ทางทิศตะวันตกมีทิวเขาอินทนนท์ และลำน้ำแม่กลาง
พ.ศ. 2470 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
พ.ศ. 2506 ได้รับพระราชทานยกฐานะวัดขึ้น เป็นวัดพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิด วรวิหาร
พ.ศ. 2524 เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ของกรมการศาสนา
พ.ศ. 2538 เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ที่มีผลงานดีเด่น ของ กรมการศาสนา
ด้านหน้าวัดเป็นลานจอดรถขนาดใหญ่
ซุ้มประตูทางเข้าวัดพระธาตุศรีจอมทอง
พระวิหารหลวง (พระวิหารจัตุรมุข)
ในพระวิหารหลวงของวัดพระธาตุศรีจอมทอง เป็นสถานที่ประดิษฐานของพระทักขิณโมลีธาตุ พระธาตุส่วนที่เป็นพระเศียรเบื้องขวาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีขนาดประมาณเมล็ดข้าวโพด สันฐานกลมเกลี้ยง สีขาวนวล ดุจสีดอกบวบ หรือ สีดอกพิกุลแห้ง ตามตำนานกล่าวว่า พระเจ้าอโศกมหาราช เป็นผู้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ ดอยจอมทอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 218 จนถึงปัจจุบัน
พระบรมธาตุ ถูกบรรจุไว้ในพระโกศ 5 ชั้น ซึ่งตั้งอยู่ภายในพระวิหารจตุรมุข ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ มีฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส คล้ายพระเจดีย์ กว้าง 4 เมตร สูง 8 เมตร ตามประวัติว่าสร้างขึ้นโดย พระษาดิลกปนัดดาธิราช หรือ พระเมืองแก้ว กษัตริย์ราชวงศ์มังราย เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2060
สถานที่สำคัญภายในวัด
พระอุโบสถ
ลักษณะทรงไทยหน้าบันลงปิดทองสวยงาม สร้างสมัยท่านเจ้าคุณสุวรรณโมลีฯ (สุวรรณบรมธาตุบริหาร) เดิมภายในพระอุโบสถมีประพุทธรูปสามองค์สร้างด้วยไม้แกะสลัก พระประธานในพระอุโบสถเป็นปางถวายเนตร ซึ่งแตกต่างจากพระอุโบสถในล้านนาทั่วไป บริเวณประตูทางเข้าพระอุโบสถได้ฝังสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้ตามประเพณีของล้านนา จึงไม่อนุญาตให้สุภาพสตรีขึ้นไปยังพระอุโบสถ ภายในมีรูปวาดฝาผนังแสดงตำนานพระธาตุศรีจอมทอง และรูปเทวดาในชั้นต่างๆ
หอพระไตรปิฎก
สร้างสมัยท่านเจ้าคุณสุวรรณโมลีฯ (สุวรรณบรมธาตุบริหาร) อยู่ด้านหลังพระอุโบสถ เป็นอาคารสองชั้นครึ่งตึกครึ่งไม้สำหรับเก็บพระไตรปิฎกมาบรูณะใหม่ประมาณ พ.ศ. 2534 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2536 สมัยพระครูสุวิทยธรรม
พระเจดีย์บริวาล (พระธาตุน้อย)
ไม่มีระบุว่าได้สร้างขึ้นเมื่อใด สันนิษฐานว่าอายุประมาณ 300 ปี ได้รับการบอกเล่าว่าสร้างโดยชาวพม่า เมื่อครั้งปกครองนครเชียงใหม่ ศิลปะเป็นแบบมอญ-พม่า สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นคู่กับพระเจดีย์องค์ใหญ่ ให้เกิดการสมดุลกัน ภายในบรรจุสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมาย แต่ไม่ได้บรรจุพระธาตุไว้ภายใน
พระธาตุศรีจอมทอง
ฐานรูปสี่เหลี่ยม หุ้มทองทั้งองค์ กว้าง 4 เมตร ยาว 8 เมตร ศิลปกรรมแบบล้านนา
พระวิหารจัตุรมุข
ตามประวัติเล่าว่าพระวิหารถูกสร้างขึ้นโดย พระเจ้าดิลกปนัดดาธิราช หรือ พระเมืองแก้ว กษัตริย์ราชวงศ์มังราย เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2060 ภายในพระวิหารมีมณฑปปราสาทเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ โดยพระบรมธาตุถูกนำเข้าไว้ในโกศทองคำตั้งไว้ภายในปราสาท มีหลวงพ่อเพชรเป็นพระประธานในพระวิหาร (จำลองจากองค์จริงที่วัดท่าหลวง จังหวัดพิจิตร) และมีโบราณวัตถุ เช่น พระพุทธรูปเงินทองคำของคลังข้างที่ซึ่งประทานโดยเจ้าดารารัศมีพระราชชายาใน รัชกาลที่ 5 เช่น ตลับฝังเพชร งาช้างเงิน
นอกจากนี้ยังมีหอสรงน้ำพระธาตุจอมทอง อาคารพิพิธภัณฑ์ ศาลาการเปรียญ โรงเรียนพระปริยัติธรรม กุฏิสงฆ์ สำนักปฏิบัติธรรม วิปัสสนากรรมฐาน มีกุฏิสำหรับผู้ที่มาปฏิบัติ ศาลาสอบอารมณ์กรรมฐาน โรงครัว ห้องน้ำ-ห้องสุขา
ประเพณีสำคัญ
– สรงน้ำพระบรมธาตุ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 เหนือ
– แห่ไม้ค้ำโพธิ์ วันสงกรานต์
– คติของชาวล้านนามีความเชื่อว่าเป็นพระธาตุประจำปีเกิด (ปีชวด)
กิจกรรม
– พิธีทำบุญถวายภัตตาหาร,ฟังเทศน์ทุกวันพระ (วันธัมมัสสวนะ)
– ปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐาน(สติปัฎฐาน 4) ตลอดทั้งปี
ที่ตั้งและการเดินทาง
วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร
ที่อยู่: 157 บ้านหลวง ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
โทรศัพท์: 053-341-725, 053-826-869
โทรสาร: 053-342-185
จากตัวเมืองเชียงใหม่ใช้ถนนหลวงหมายเลข 108 มุ่งหน้าสู่อำเภอจอมทอง เส้นทางเดียวกับไปดอยอินทนนท์ครับ แต่พอถึงแยกดอยอินทนนท์ไม่ต้องเลี้ยวครับ เลยไปอีกนิดหน่อยวัดอยู่ซ้ายมือ สรุปง่ายๆ ก็คือ จากตัวเชียงใหม่ มาตามถนนสายเชียงใหม่-ฮอด ตรงมาอย่างเดียวเลยครับ 58 กิโลเมตร วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหารอยู่ซ้ายมือ