เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ทั้ง 9 เป็นทายาทของหนานทิพย์ช้าง หรือพระยาสุลวะฤาไชยสงครามผู้ซึ่งเป็นวีรบุรุษแห่งเขลางค์นคร (ลำปาง) เจ้าผู้ครองนครลำปาง (พ.ศ. 2257-2302) ต้นตระกูลเชื้อเจ็ดตน
ในสมัยที่เมืองเชียงใหม่ เป็นประเทศราชของอาณาจักรธนบุรี เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ มีบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาประเทศราช” โดยมีพระยาวิเชียรปราการ (บุญมา) เป็นพระยาเชียงใหม่องค์แรก (ครองเมืองปี พ.ศ.2317-2319 แต่หลายตำราอาจไม่นับเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่) ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีพระยาเชียงใหม่บางองค์ได้รับสถาปนาเป็น “พระเจ้าประเทศราช” เป็นกรณีพิเศษ เช่น พระเจ้ากาวิละ และพระเจ้ามโหตรประเทศ จนวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2399 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงสถาปนาพระยาประเทศราชในราชวงศ์ทิพย์จักรทั้งสามองค์ คือ พระยาเชียงใหม่ พระยาลำปาง และพระยาลำพูน ขึ้นเป็น “เจ้าประเทศราช” สืบมาจนถึงเจ้าแก้วนวรัฐ ผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 9 ซึ่งเป็นองค์สุดท้าย ถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ. 2482 คณะรัฐมนตรีสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม มีมติให้ยุติการตั้งเจ้าประเทศราช ทำให้ตำแหน่งเจ้านครเชียงใหม่สิ้นสุดลงนับแต่นั้น….
พระเจ้าบรมราชาธิบดี กาวิละ
ครองเมือง พ.ศ.2325-2358
พระเจ้าธรรมลังกา เจ้าช้างเผือก
ครองเมือง พ.ศ.2358-2364
เจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้น
ครองเมือง พ.ศ.2364-2368
เจ้าหลวงพุทธวงศ์
ครองเมือง พ.ศ.2368-2389
พระเจ้ามโหตรประเทศ
ครองเมือง พ.ศ.2389-2397
พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์
ครองเมือง พ.ศ.2397-2413
พระเจ้าอินทวิชยานนท์
ครองเมือง พ.ศ.2413-2440
พระเจ้าอินทรโรรสสุริยวงศ์
ครองเมือง พ.ศ.2440-2452
พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ
ครองเมือง พ.ศ.2452-2482
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ทางประเทศสยาม ได้ยกเลิกระบบประเทศราช ทำให้ฐานะของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ถูกยกเลิกไป เหลือเพียงการสืบเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เป็นผู้สืบราชสกุล ณ เชียงใหม่ ซึ่งบทบาทที่เห็นได้ชัด คือ การแสดงความจงรักภักดีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์ ในพระราชพิธีต่าง ๆ
นับแต่พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ ถึงแก่พิราลัย ในปี พ.ศ. 2482 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการสืบราชสกุล ณ เชียงใหม่ ให้แก่บุคคลสืบเชื้อสายต่อไป