หากเดินเข้าไปในบริเวณกำแพงเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน จะเห็นภาพของต้นไม้ คูน้ำ กำแพงเมืองและถนนที่ทอดยาวโอบล้อมเมืองไว้ เป็นภาพที่ก่อให้เกิดความสบายตาและสงบร่มรื่นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในช่วงเวลาเย็นๆ ดูเหมือนว่าจะเป็นภาพที่แตกต่างจากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่อายุ 70-80 ปี ที่เล่าว่าเมื่อตอนที่ยังเป็นเด็ก บริเวณกำแพงเมืองมีสภาพทรุดโทรม บางส่วนมีหญ้ารกปกคลุม และบางส่วนพังทลาย ถนนริมกำแพงเมืองด้านในเป็นเพียงทางเดินแคบๆ ส่วนถนนริมคูเมืองด้านนอกแคบมากขนาดคนเดินสวนกันได้เท่านั้น เกวียนไม่สามารถเดินผ่านได้ ผู้คนมักไม่กล้าเดินผ่านเพราะเปลี่ยวมาก มีหลักฐานว่าตั้งแต่ปี 2508 เป็นต้นมาทางเทศบาลได้เริ่มบูรณะประตูเมืองและแจ่งเมืองให้ดูเป็นระเบียบดังที่เห็นในปัจจุบัน
ในปัจจุบันกำแพงเมืองเชียงใหม่มี 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นกำแพงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยอิฐมีขนาดกว้าง 900 วา ยาว 1,000 วา อีกส่วนเป็นกำแพงดินที่โอบล้อมเมืองตั้งแต่บริเวณถนนท่าแพใกล้วัดบุพพารามทอดยาวไปจนถึงโรงพยาบาลสวนปรุง
ในบริเวณมุมกำแพงเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าคนเมืองเรียกว่า แจ่ง แต่ละแจ่งมีชื่อเรียกดังนี้ คือ แจ่งหัวรินที่ถนนห้วยแก้วตรงกันข้ามกับโรงพยาบาลเชียงใหม่ราม แจ่งศรีภูมิตรงข้ามวัดชัยศรีภูมิ วัดนี้เดิมชื่อวัดพันตาเกิ๋น เนื่องจากมีเรื่องเล่าว่าคูเมืองตรงนี้ลึกมาก ต้องใช้บันไดไม้ไผ่ยาวถึง 1,000 ข้อ จึงจะสามารถหยั่งถึงพื้นได้ คนเมืองเรียกบันไดไม้ไผ่ว่าเกิ๋น จึงเรียกวัดนี้ว่าวัดพันตาเกิ๋น แจ่งขะต๊ำ ใกล้ๆ กับวัดพวกช้าง ขะต๊ำ” หมายถึงเครื่องมือจับปลาประเภทหนึ่ง ซึ่งแต่เดิมบริเวณนี้ปลาชุกชุม ผู้คนมักจะมาดักปลาโดยใช้ ขะต๊ำ” ในบริเวณนี้จึงได้ชื่อว่าแจ่งขะต๊ำ แจ่งกู่เฮืองตรงกันข้ามโรงพยาบาลสวนปรุง
กำแพงเมืองแต่ละด้านจากแจ่งสู่แจ่ง เจาะช่องประตูเป็นทางเข้าออกเมืองดังนี้ จากแจ่งหัวรินถึงแจ่งศรีภูมิมีประตูช้างเผือก จากแจ่งศรีภูมิถึงแจ่งขะต๊ำมีสองประตูคือ ประตูช้างม่อยและประตูท่าแพ จากแจ่งขะต๊ำถึงแจ่งกู่เฮือง มีสองประตูคือ ประตูเชียงใหม่และประตูสวนปรุง และจากแจ่งกู่เฮืองถึงแจ่งหัวรินมีประตูสวนดอก บริเวณประตูทั้ง 6 ประตู มีจารึกลงยันต์และคาถาบนศิลาจารึกติดไว้ที่ทางเข้าออกประตู แต่ที่ประตูช้างม่อยหายไป ในขณะที่บางแห่งได้ทำคัดลอกขึ้นใหม่ เช่นที่ประตูสวนปรุงและประตูสวนดอก เป็นต้น
ทั้งด้านในและด้านนอกกำแพงเมืองแต่ละด้านมีถนนวิ่งผ่านโดยรอบ แต่ละถนนมีชื่อต่างกันดังนี้ จากแจ่งหัวรินถึงแจ่งศรีภูมิด้านในกำแพงเมือง เป็นถนนศรีภูมิ ด้านนอกเป็นถนนมณีนพรัตน์ จากแจ่งศรีภูมิถึงแจ่งขะต๊ำด้านในกำแพงเมือง เป็นถนนมูลเมือง ด้านนอกจากแจ่งศรีภูมิถึงประตูท่าแพ เป็นถนนชัยภูมิ จากประตูท่าแพถึงแจ่งขะต๊ำเป็นถนนคชสาร จากแจ่งขะต๊ำถึงแจ่งกู่เฮืองด้านในกำแพงเมือง เป็นถนนบำรุงบุรี ด้านนอกจากแจ่งขะต๊ำถึงประตูเชียงใหม่เป็นถนนราชเชียงแสน จากประตูเชียงใหม่ถึงแจ่งกู่เฮืองเป็นถนนช่างหล่อ และจากแจ่งกู่เฮืองถึงแจ่งหัวรินด้านในเป็นถนนอารักษ์ ด้านนอกเป็นถนนบุญเรืองฤทธิ์
ปรากฏหลักฐานในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ว่า กำแพงเมือง คูเมือง และประตูเมือง สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองเชียงใหม่ แต่มีการบูรณะซ่อมแซมต่อมาอีกหลายสมัย
เมื่อพระยามังรายโปรดให้สร้างเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา พระองค์โปรดให้สร้างเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 900 วา ยาว 1000 วา และโปรดให้ขุดคูรอบเวียง เข้าใจว่ากำแพงเมืองในสมัยนี้ยังเป็นกำแพงที่ทำด้วยดิน เนื่องจากการสร้างกำแพงด้วยอิฐนั้นมีหลักฐานว่า สร้างในสมัยพระเมืองแก้ว ที่พระองค์โปรดให้ ปั้นดินจักก่อเมฆเวียงเชียงใหม่และ ในสมัยพระเจ้ากาวิละ เมื่อพระองค์กลับมาซ่อมแซมเมืองเชียงใหม่ ทรงโปรดให้…สร้างรั้วแปลงเวียงก่อเมกปราการ กำแพงเชิงเทิน หอป้อมบานประตูหื้อแน่นหนา มั่นคง ขุดร่องคือเอาน้ำเข้า เพื่อให้เป็นที่ขามแข็งทนทานแก่ข้าศึก…
สำหรับประตูเมืองเชียงใหม่นั้น เมื่อแรกสร้างเมืองเชียงใหม่ พระยามังรายทรงมีดำริที่จะ … แปงประตูห้าแห่ง… ซึ่งไม่พบหลักฐานว่าในสมัยพระองค์ได้มีการสร้างประตูเสร็จทั้งห้าแห่งหรือไม่ เนื่องจากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า ในสมัยพระเจ้าติโลกราช เชียงใหม่มีประตูเมือง 6 ประตู ซึ่งประตู 2 แห่งได้สร้างในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนและพระเจ้าติโลกราชตามลำดับ
ในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนโปรดให้สร้างประตูสวนแหเพื่อให้ความสะดวกแก่พระราชมารดาในการเสด็จไปควบคุมการก่อสร้างองค์เจดีย์หลวง ซึ่งในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมาเจดีย์องค์นี้สร้างยังไม่แล้วเสร็จ ที่ต้องเจาะประตูเพิ่มเพราะพระราชมารดาประทับอยู่ที่บ้านสวนแหด้านนอกกำแพงเมือง ซึ่งสันนิษฐานว่าตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่สวนปรุงในปัจจุบัน
ในสมัยพระเจ้าติโลกราชเมื่อพระองค์โปรดให้สร้างที่ประทับแห่งใหม่ ในบริเวณใกล้กับแจ่งศรีภูมิ จึงโปรดให้สร้างประตูศรีภูมิขึ้นอีกหนึ่งประตู เพื่อความสะดวกในการเดินทาง
คนโบราณเชื่อว่าบริเวณประตูและแจ่งต่างๆ เป็นที่อยู่ของเทวดาอารักษ์ที่คอยดูแลรักษาเมืองและผู้คนให้มีความสุขและให้บ้านเมืองมีความอุดมสมบูรณ์ เทวดาอารักษ์เหล่านี้เปรียบเสมือนศรีและขวัญของเมือง ชาวเมืองต้องทำพิธีบูชาผีและอารักษ์เมืองทุกปี และในทางกลับกันหากต้องการทำลายเมือง วิธีหนึ่งคือการทำลายศรีและขวัญเมือง ด้วยการทำขึดบริเวณประตูเมือง ซึ่งเป็นที่สิงสถิตย์ของเทวดาอารักษ์เมือง เหมือนเช่นในสมัยพระเจ้าติโลกราช ทางอาณาจักรอยุธยาได้ส่งคนมาทำลายศรีและขวัญเมืองด้วยการทำคุณไสยนำไหใส่ยา (ของที่ไม่เป็นมงคล) ไปฝังไว้กลางเมืองและบริเวณประตูเมืองทั้งหกแห่ง ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมายภายในเมือง จนกระทั่งเมื่อพระเจ้าติโลกราชทรงทราบและโปรดให้แก้อาถรรพ์นำไหออกไปเผา ทำให้เชียงใหม่หมดเคราะห์ร้าย และค่อยๆ ดีตามลำดับ
อาจารย์มณี พยอมยงค์กล่าวถึง เทวดาอารักษ์ที่สิงสถิตย์อยู่ที่ประตูเมืองไว้ดังนี้ เทวบุตร สุรักขิโต รักษาประตูช้างเผือกและประตูท่าแพตะวันออก เทวบุตรไชยภุมโม รักษาประตูเชียงใหม่และประตูเมืองด้านใต้ เทวบุตรสุรขาโต รักษาประตูสวนดอกด้านทิศตะวันตก เทวบุตรคันธรักขิโตรักษาประตูช้างเผือกด้านทิศเหนือ
สำหรับบริเวณแจ่งต่างๆ มีศาลประจำแจ่ง ซึ่งเป็นที่สิงสถิตย์ของผีอารักษ์เมือง ศาลประจำแจ่งที่สำคัญที่สุดคือ ศาลประจำแจ่งศรีภูมิ เพราะเป็นบริเวณที่ทำพิธีเซ่นหรือเลี้ยง ผีเจ้าหลวงคำแดง ซึ่งเป็นอารักษ์เมืองที่มีอิทธิพลสูงสุด สูงกว่าผีตนใดในเชียงใน มีสถานะเป็นผีเจ้านาย โดยปกติผีเจ้าหลวงคำแดงจะสถิตย์อยู่ที่ดอยเชียงดาว
รายการอ้างอิง
สงวน โชติรัตน์. (2516). ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. พระนคร:
คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี.
มณี พยอมยงค์. (2533). ประเพณีสิบสองเดือน ล้านนาไทย.
(พิมพ์ครั้งที่ 2). เชียงใหม่: ส.ทรัพย์การพิมพ์.
ที่มาของภาพทั้งหมดจาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผลงานการถ่ายภาพของ นายบุญเสริม สาตราภัย