เมื่อบุเรงนองยึดเมืองเชียงใหม่ได้แล้ว ในระยะแรกนี้พม่ามิได้เข้ามาปกครองโดยตรง แต่ได้แต่งตั้งให้พระเมกุฏิเจ้าเมืองเชียงใหม่ปกครองบ้านเมืองตามเดิม ในฐานะเมืองประเทศราชของพม่าซึ่งเชียงใหม่จะต้องส่งเครื่องบรรณาการ ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง จะต้องเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินปีละ ๑ ครั้ง เป็นอย่างน้อย จะต้องส่งส่วยเป็นสิ่งของตามที่พม่าต้องการ เช่น ช้าง ม้า น้ำรัก เครื่องแพรพรรณต่างๆ และจะต้องจัดหากำลังคน เสบียงอาหารช่วยพม่าในยามเกิดศึกสงคราม ต่อมาพม่าได้ปลดพระเมกุฏิออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ. ๒๑๐๗ โดยพม่าอ้างว่าพระเมกุฏิคิดการเป็นกบฎ พม่าได้แต่งตั้งสตรีเชื้อสายราชวงศ์มังรายเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่คือ นางพระยาราชเทวี หรือพระนางวิสุทธิ-เทวี ซึ่งนับเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่เชื้อสายราชวงศ์มังรายองค์สุดท้ายที่ปกครองบ้านเมืองฐานะประเทศราชของพม่า เมื่อนางพระยาราชเทวีสิ้นพระชนม์ พม่าก็ได้แต่งตั้งให้เจ้านายและข้าราชการของพม่ามา ปกครองเมืองเชียงใหม่โดยตรง กษัตริย์เชียงใหม่สมัยที่พม่าปกครองรวมทั้งสิ้นจำนวน ๑๓ พระองค์
การปกครองของพม่าในล้านนาไทย พม่าพยายามปกครองหัวเมืองล้านนาไทยอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการกบฏ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นผู้ปกครองบ้านเมือง พม่าจะควบคุมเป็นพิเศษ พม่าได้ควบคุมนโยบายสำคัญๆ ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ โดยได้ควบคุมการแต่งตั้งโยกย้ายถอดถอนเจ้าเมืองล้านนาไทย ตลอดจนการปูนบำเหน็จและการลงโทษด้วย ควบคุมการเกณฑ์กำลังคนเพื่อใช้ในยามสงคราม และพม่าได้นำตัวราชบุตรหรืออนุชาเจ้าเมืองประเทศราชไปไว้เป็นตัวประกันที่เมืองพม่าด้วย
สำหรับการปกครองภายในบ้านเมืองนั้น กิจการใดที่ไม่ขัดกับผลประโยชน์ของพม่า สันนิษฐานว่าพม่าคงอนุโลมให้เจ้าเมืองในล้านนาไทยมีอิสระ ปกครองกันเองภายใต้อำนาจของพม่า สำหรับเมืองเชียงใหม่นั้นในฐานะที่เป็นเมืองสำคัญ พม่าได้แต่งตั้งขุนนางและกษัตริย์พม่าเข้ามาทำการปกครองโดยตรง นับตั้งแต่สิ้นสมัยนางพระยาราชเทวีเป็นต้นมา ได้พบหลักฐานข้อความในเอกสารคัมภีร์โบราณ ได้เขียนเกี่ยวกับกฎหมายที่พม่าใช้ปกครองในเมืองเชียงใหม่ แสดงให้เห็นว่าพม่า ดำเนินการปกครองตามจารีตประเพณีที่เคยปกครองมาแต่ก่อน เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนเชียงใหม่เกลี่ยดชังผู้ปกครองพม่าซึ่งอาจจะก่อให้เกิดการต่อต้านพม่าก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามพม่าก็ได้ควบคุมและจัดการเกี่ยวกับบางเรื่องอย่างเข้มงวดกวดขัน ซึ่งได้ปรากฏข้อความเกี่ยวกับเรื่องนี้ในคัมภีร์ราชวงศาพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับวัดเชียงมั่น พอสรุปได้ดังนี้
พม่ากับไพร่เมืองเชียงใหม่ ได้พบว่าพม่ามีคำสั่งให้ข้าราชการขุนนางพม่าเลี้ยงดู รักษาไพร่ไทอย่าให้ไพร่ไทเดือดร้อนทุกข์ยาก ให้ไพร่มีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ และให้ไพร่ยินดีที่จะทำงานให้ทางบ้านเมือง ดังปรากฏข้อความว่า
… สักราชได้ ๙๓๑ ตัว (พ.ศ. ๒๑๑๒) เดือน ๑๑ ออก ๑๐ ค่ำ วัน ๗ รักชื่อโกชนะ ๑๖ ลูก กินเมืองพิง จาเรนั้นก็หื้อมังแรส่วย ต้องเข้าภิทูรไหว้สาเจ้าตนบุญใหญ่ ธัมมราชาหลวงเมืองเชียงใหม่แต่เช่นเกล่า (เก่า) ราชาทั้งหลายมีรีดเกล่ารอยหลังมา อันได้แต่งกินเมืองเชียงใหม่ เก็บหอมไพร่ไทอวบฟักรักสา บ่หื้อรีดมล้าง เยืองสันใด (ฉันใด) ไพร่ไทไพร่บ้านไทเมืองบ่ร้อนบ่ไหม้บ่ทุกข์ยาก ก็หื้อเสมอกับด้วยกัน หื้อมีสมันตหื้อสุขหนุกชุ่มเย็น … ดั่งข้าใหญ่ไพร่ไทกูทั้งหลาย เช่น กูนี้ก็มีใจชื่นชมยินดีเวียกส้าง (ทำงาน) ซื้อขายกินไปใกล้ไปไกลนั่งนอนก็เสมอดั่งพร้อมกันพร้อมเพรียง …
เกี่ยวกับการบุกเบิกที่นาของไพร่หรือประชาชน พม่าให้อนุโลมตามกฎหมายมังรายศาสตร์ว่าเรือกสวนไร่นาใดกลายเป็นนาร้างนาน ๑๐ ปี ต่อมาไพร่ไทได้แผ้วถางบุกเบิกให้เป็นไร่นา ให้ไพร่
ทำนาโดยไม่เก็บค่านา ๓ ปี ถ้าเกิน ๓ ปีไปแล้ว ให้ขุนกินเมืองเก็บภาษีตามประเพณีโบราณ ดัง ข้อความว่า
“ … ประการ ๑ ดั่งข้าเจ้าคนในทั้งหลาย ไร่นาเรือกสวนห้วยร้องปลาบวกหนองทั้งหลายนั้น เปล่าห่าง ๑๐ ปี ไพร่ไทข้าเจ้า (ข้า หมายถึงทาส) เอาการทั้งหลาย แผ้วถางถากฟันเยียะไร่ แปลงนานั้น บ่ล้ำสามปี อย่าได้เอาของฝาก (ภาษีหรือค่าเช่า) คันล้ำสามปีไปหากเยียะสร้างก็ดี ขุนกินเมืองกินแคว้น แก่หัวทั้งหลาย หื้อได้หยั่งแยงหยุดผ่อน อย่าเอาเต็มอาเจียรบูราณ (โบราณ)”
กรณีที่ไพร่ไปรบในสงครามได้กู้เงินในระหว่างทำสงคราม เมื่อกลับมาถึงบ้านเมืองแล้ว ให้ผู้กู้ใช้คืนสองเท่า ถ้าลูกหรือสามีไปกู้เงินในระหว่างไปรบ มีผู้รู้เห็นหลายคนว่ากู้ไปจริง (สันนิษฐานว่ากรณีนี้ผู้กู้อาจจะตายในสงคราม – ผู้เขียน) ให้ลูกเมียใช้หนี้แทนถ้าไม่มีเงินใช้เพราะยากจน ให้เจ้านายของไพร่ (อมวยขระกูล)ใช้แทน ถ้าเจ้านายไม่ใช้แทน ให้ข้าราชการขุนนางพม่าประชุมปรึกษากันแล้วใช้เงินแทนไพร่เพื่อให้ไพร่ไปรบข้าศึก นับเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งของพม่าที่ให้แก่ไพร่ผู้อุทิศเวลาและชีวิตไปรบในสงคราม นอกจากนี้ พม่ายังได้ออกกฎหมายไพร่เกี่ยวกับความสะดวกสบายของลูกหลานไพร่ที่ไปรบว่า ถ้าลูกหรือสามีของไพร่ผู้ใดไปช่วยรบในสงครามต่างบ้านต่างเมือง ขุนกินเมืองหรือผู้ปกครองไพร่ผู้นั้นจะเรียกลูกหรือภรรยาของผู้ศึกษาไปใช้งานมิได้ ข้อนี้นับเป็นการให้สิทธิพิเศษแก่ลูกและภรรยาของผู้ไปรบสงครามประการหนึ่งเช่นกัน
เกี่ยวกับการควบคุมไพร่เมืองหรือประชาชนนั้น ได้พบข้อความที่แสดงให้เห็นว่าพม่าได้พยายามควบคุมไพร่เมือง เพราะไพร่เป็นกำลังสำคัญของบ้านเมืองทั้งยามสงบและยามสงคราม พม่าอนุญาตให้ไพร่เมืองย้ายถิ่นฐานได้ แต่ห้ามมิให้ไพร่เมืองหลบหนีไปอยู่ป่า หรือหลบออกจากเมืองไปอยู่ในที่ๆ พม่าควบคุมไม่ถึง ถ้าพบว่าคนใดหลบหนีไปอยู่ป่าให้จดชื่อของคนผู้นั้นแล้วนำไปแจ้งให้เจ้านายทราบ เพื่อจะได้สั่งดำเนินการกับไพร่ผู้นั้นต่อไป ดังปรากฏข้อความว่า
“ประการ ๑ ดั่งเมืองอันได้แต่งเก็บหอมนั้น แต่บ้าน ๑ ก็ย้ายออกไปอยู่บ้าน ๑ แก่หัวสิบซาว (นายสิบนายซาว) ทั้งหลายเรียกร้องเอานั้น ดังแก่บ้านพ่อเมืองนั้น อย่าเกิ้งอย่าเกิ๊ด(อย่าขัดขวาง) อย่าห้ามทาประมาณ ๑ ออกแต่บ้านนั้น ไปลี้ลับซงอยู่นั้น (ไปซ่อนอยู่) หื้อได้เหมียดหมายซื่อแล้ว หื้อได้เข้าไหว้สาที่สนามคา … ”
อนึ่ง พม่าได้กำหนดให้ไพร่ทำงานให้กับทางราชการบ้านเมืองตามประเพณีแต่โบราณมา ซึ่งในสมัยราชวงศ์มังรายไพร่ทุกคนมีหน้าที่มาทำงานให้บ้านเมืองตามที่กำหนด เรียกว่า “ไพร่เอาการเมือง” พม่าได้ควบคุมมิให้ไพร่หนีงาน ถ้าราชการมีงานให้ไพร่ทำ แล้วไพร่ทำอุบายหลบหนีงานให้ ควบคุมไว้ หากเมื่อทำงานเสร็จแล้วขุนนางพม่าอนุญาตให้กลับบ้าน ไพร่ต้องไปอยู่ที่เดิมหรือสังกัดเดิม แต่ทำอุบายจะหลบหนีอีกให้ลงโทษจำคุก (ปันราชวัตร) ไพร่ผู้นั้น
ถ้ากรณีบ้านเมืองมีงานให้ไพร่ทำ พ่อแม่ของไพร่ผู้นั้นทราบแล้วว่าจะต้องให้ลูกของตนไปทำงานนั้น แต่พ่อแม่ละเลยหลีกเลี่ยงโดยได้ส่งลูกของตนไปอยู่ที่อื่น หรือให้ลูกของตนไปหลบอยู่ตามป่าเขา ถือว่าหลีกเลี่ยงงานราชการ ให้จับกุมพ่อแม่แล้วให้ลงโทษประหารชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นโทษสถานหนัก แสดงว่าพม่าควบคุมแรงงานไพร่อย่างเข้มงวดกวดขันมาก ในทางตรงกันข้ามก็สันนิษฐานได้ว่า พม่า ลงโทษอย่างรุนแรงนี้ก็อาจจะเป็นเพราะมีไพร่เมืองพยายามหลบหนีงานราชการมากก็เป็นได้ จึงลงโทษสถานหนักเพื่อให้คนเกรงกลัวต่อโทษที่จะได้รับนั้น ซึ่งข้อนี้อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเชียงใหม่ไม่พอใจการปกครองของพม่าแล้วหาทางเป็นกบฏจากพม่าตลอดเวลา เกี่ยวกับเรื่องนี้มีความระบุว่า
ประการ ๑ ดั่งกิจการราชการเจ้าเกิดมีก็หากรู้จักว่า จักได้ลูกเอาราชการก็เอาลูกเต้าไปส่งเสียที่ไกลแล้ว ก็ซุกซ่อนหว่างห้วยพูดอยป่าเถื่อนบุบุ่นไปซุกซ่อนตั๋วอยู่ยังหว่างห้วยพูดอยพูเขา (ภูเขา) เป็นผู้หลีกเว้นยังการเจ้าดั่งเขาทั้งหลายนั้น ก็หื้อไล่กุมกำยับเอาทั้งแม่หญิงพ่อชายหื้อเสี้ยงแล้ว หัวเขาตกดินนับเสี้ยง (ฆ่าเสีย)
เกี่ยวกับเรื่องของข้าทาสนั้น พม่ากำหนดว่าผู้ใดทุบตีทาส (ข้า) ของผู้อื่นตายให้แจ้งความให้ขุนนางพม่าทราบ อย่าได้ปิดบังไว้ แสดงว่าพม่าควบคุมทาสในเชียงใหม่ด้วย
ขบวนการยุติธรรมในบ้านเมือง กรณีมีคดีพิพาทเกิดขึ้นในบ้านเมืองให้ผู้ปกครองหรือ เจ้าขุนเป็นผู้ตัดสินคดี ถ้าเป็นคดีสำคัญหรือคดีใหญ่ให้มีการประชุมเจ้าเมือง (ขุนกินเมือง) เลขานุการ (จาเรแคว้น) หัวหน้าแคว้นและล่าม ให้ประชุมพร้อมกันที่กว้าน (ศาล) แล้วจึงให้พิจารณาตัดสินตามธรรมศาสตร์ (รีดคลองธัมมสาด) ราชศาสตร์ อย่าได้ตัดสินโดยเห็นแก่สินบนหรือตัดสินโดยลำเอียง นับว่าพม่าได้ให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนในปกครองของพม่าพอสมควร
เกี่ยวกับการควบคุมข้าราชการของพม่านั้น ได้พบข้อความที่แสดงว่าพม่าปกครองเชียงใหม่อย่างมีระเบียบแบบแผน ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของขุนนางพม่าที่ทำหน้าที่ผู้ปกครอง บ้านเมืองอย่างรัดกุม เพื่อให้การปกครองเป็นไปอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยและตามที่พม่าต้องการ และเป็นการป้องกันมิให้ข้าราชการพม่าใช้อำนาจข่มเหงประชาชน ดังพอจะสรุปถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับ ข้าราชการพม่าได้ดังนี้
ห้ามข้าราชการพม่า ปรับไหมหรือลงโทษประชาชน โดยที่กฎหมายมิได้กำหนดว่าเป็นความผิด ถ้าจะมีการพิจารณาตัดสินคดีห้ามตัดสินคดีตามใจชอบ ให้พิจารณาโดยละเอียด รอบคอบก่อนแล้วจึงตัดสิน
ลูกหลานของขุนนางพม่าในเชียงใหม่ หากไปเที่ยวตามหมู่บ้านต่างๆ ห้ามใช้อำนาจไปบังคับประชาชนให้นำอาหาร หมู เป็ด ไก่ หมาก เมี่ยง พลู ของขบเคี้ยวต่างๆ จากชาวบ้าน ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน
สำหรับทหารพม่าที่มาจากหงสาวดีและอังวะ เข้าตั้งเมืองเชียงใหม่แล้วให้ปลูกโรงช้างโรงม้าบ้านเรือนขึ้นใหม่ อย่าได้ข่มเหงขุนนาง (ขุนกินบ้านกินเมือง) เชียงใหม่ทั้งหลายให้เดือดร้อน เขาแบ่งปันให้เท่าใดให้รับเอาเพียงเท่านั้น อย่าได้แก่งแย่งครุบชิงเอาของเขา
ส่วนประชาชนพม่าในเมืองเชียงใหม่นั้น ห้ามแอบอ้างเอากฎหมายหรือหนังสือทางบ้านเมืองไปข่มเหงเบียดเบียน ปรับไหมประชาชน ถ้าผู้ใดได้กระทำเช่นนี้ ให้ขุนนางทั้งหลายจับกุมผู้ทำผิดและครอบครัวที่คนพม่าผู้นั้นไปละเมิดปรับไหมข่มเหงเขา ให้นำมามอบให้ขุนนางผู้ใหญ่พิจารณา ลงโทษ
ด้านภาษีอากร พม่าได้พยายามควบคุมทรัพยากรต่างๆ ให้นำมาใส่พระคลังไว้ มิให้ ข้าราชการซ่อนหรืออำหรือใช้สอยของของทางราชการ ดังความว่า
… วัตถุกับน้ำ คันไร่นา เรือกสวนบ้านป่าคนทั้งหลายฝูงนั้น ดั่งขุมกินบ้านกินเมืองทั้งหลาย อย่าซ่อนอย่าอำไว้ … อย่าได้ใช้สอย ก็หอบขมาเข้าที่ราชสมบัติ …
สำหรับของที่เป็นของทางราชการบ้านเมืองมาก่อน (สมัยราชวงศ์มังราย) อย่าได้ เปลี่ยนแปลงล้มล้างเสีย เดิมเคยเก็บเข้าคลังอย่างใดก็ให้ปฏิบัติตามเดิมเช่นนั้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้สมบัติของบ้านเมืองในสมัยพม่าปกครองลดจำนวนลง
กรณีที่ประชาชนหรือเจ้าขุนนำส่วยมาให้เป็นส่วยเดือนหรือส่วยปี เป็นน้ำมันดิน หรือ สิ่งของอื่นๆ ข้าราชการขุนนางพม่าอย่าได้เก็บไว้เป็นของตน ดังปรากฏข้อความว่า
“… คันข้าเจ้าคนในทั้งหลาย อันส่วยเขาด้วยเขาปลี (ปี) เขาเดือน เชาเดือน เชาน้ำมันดิน กาง (กลาง) ท่า หอบสิ่ง ดั่งข้าเจ้าคนในทั้งหลายฝูงนี้อย่าได้เก็บเอา”
ส่วนฉางหลวงหรือพระคลังหลวงนั้น ให้ได้นำข้าว พืชพันธ์ (เครื่องปลูก) อาหารต่างๆ มาเก็บรักษาไว้ตามประเพณีที่เคยมา เพื่อฉางหลวงคลังหลวงจะได้มีข้าวของเงินทองไว้ใช้สอยในกิจการบ้านเมืองหรือคราวจำเป็น เช่น ยามสงคราม ดังปรากฏข้อความว่า
“… ประการ ๑ ดังสาง (ฉาง) หลวงเหล้ม (เล่ม หลวง อันได้หล่อได้ปันตาม เช่นเกล่า ตามเช่นเกล่า (เก่า) รอยหลัง ก็หื้อได้จัดถามแล้ว หื้อได้เปล่าเติน (ประกาศเตือน) สร้างแปลง ข้าว ยา ยาเคี้ยว เครื่องปลูกทั้งหลาย หื้อได้ใส่ได้หล่อ ตามเช้นเกล่าบูราณ …”
ในกรณีที่ทางราชการบ้านเมืองมีความจำเป็นรีบด่วนในการจะเรียกเกณฑ์เงินทอง ข้าวเปลือก ข้าวสาร เช่น ในภาวะสงคราม ทางราชการจะเรียกเก็บจากประชาชนก็ไม่ทันการณ์ ให้ข้าราชการเจ้าเมืองทั้งหลายจ่ายทดแทนไปก่อนแล้วจึงเรียกเก็บจากไพร่และอย่าได้เก็บค่าดอกเบี้ยหรือค่าตอบแทนที่จ่ายทดแทนครั้งนั้น ให้เรียกเก็บเท่าที่จ่ายทดแทนไป ดังปรากฏข้อความว่า
“ประการ ๑ ขุนกินบ้านกินเมืองแก่หัวจาเรทั้งหลาย ดั่งกิจจราชการหากเกิดมีมานั้นและดั่งเงินทองข้าวเปือก (เปลือก) ข้าวสาน (สาร) นั้น หากบ่ทันเก็บเป็นการอันรีบนั้น หื้อแก่ หัวขุนกินบ้านกินเมืองทั้งหลายได้ออกปันก่อน คันออกแล้วเบี้ยเงินข้าวเปือกข้าวสานนั้นดั่งขุนกินบ้านกินเมืองทั้งหลาย ดั่งคนเวียกคนการทั้งหลาย ลูกบ้านลูกเมืองทั้งหลาย ก็อย่าได้ขึ้นดอกออกปลายเอามาเสียกว่า (มากกว่า) อันออกนั้น …”
จากข้อความในกฎหมายพม่า เกี่ยวกับเรื่องไพร่เมือง การควบคุมไพร่เมืองและข้าราชการพม่าด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนพ่อค้าประชาชนพม่าในเชียงใหม่ และเรื่องความยุติธรรมดังกล่าวข้างต้น อาจจะกล่าวได้ว่า พม่าได้พยายามปกครองเมืองเชียงใหม่อย่างรัดกุมและมีระเบียบ เพื่อให้การปกครองเป็นไปอย่างถูกต้องและเรียบร้อย ตลอดจนได้พยายามปกครองโดยอนุโลมตามประเพณีดั้งเดิมที่เคยปฏิบัติมา เช่น เรื่องเกี่ยวกับการบุกเบิกไร่นาของพม่า เป็นต้น
การที่พม่าอนุโลมให้ใช้กฎหมายมังรายศาสตร์และได้แก้ไขเพิ่มเติมบางตอนนั้น ด้วยได้พบข้อความในกฎหมายมังรายศาสตร์ว่า
“ ตามคลองยายีม่าน ว่าด้วยลักษณะมักเมียท่าน อันนี้อยู่นอกคลองมังรายศาสตร์แล …”
หมายว่าตามกฎหมายพม่าว่าด้วยการไปชอบเมียผู้อื่นให้ลงโทษหนัก ซึ่งข้อนี้ไม่ใช่กฎหมายมังรายศาสตร์ ที่พม่าอนุโลมเช่นนี้อาจเป็นเพราะพม่าได้ป้องกันมิให้คนเชียงใหม่หรือล้านนาไทยเดือดร้อน และรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงด้านการปกครองจากพม่า อันจะก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือประชาชนเกลียดชังพม่าทำให้ยากแก่การควบคุมและอาจจะมีการจลาจลขึ้นได้ อย่างไรก็ตามก็จะพบว่า แม้พม่าอนุโลมตามประเพณีดั้งเดิมของล้านนาไทยบางเรื่องที่ไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของพม่าก็ตาม แต่เรื่องที่สำคัญและเป็นผลประโยชน์ของพม่า เช่น เรื่องการควบคุมไพร่ การทำงานของไพร่ ฯลฯ จะเห็นว่าพม่าได้เข้ามาควบคุมอย่างเข้มงวดกวดขัน อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่คนล้านนาไทยไม่พอใจและคิดการกบฏต่อพม่าตลอดมา เมื่อฝ่ายไทยมาช่วยเหลือเพื่อขับไล่พม่าออกจากบ้านเมืองคนล้านนาไทยจึงร่วมมือกับฝ่ายไทยด้วยดี จนสามารถขับไล่พม่าออกไปได้สำเร็จ