หลังจากทำสนธิสัญญาเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๔๑๖ รัฐบาลกลางได้ส่งพระนรินทรราชเสนี (พุ่ม ศรีไชยยันต์) ไปเป็นข้าหลวงสามหัวเมืองประจำที่เชียงใหม่ เพื่อควบคุมดูแลและแก้ไขปัญหาในเมืองเชียงใหม่ ลำปาง และลำพูนตามที่ระบุในสัญญานั้นซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลกลางได้ส่งข้าหลวงขึ้นไปประจำการ ความมุ่งหมายของการส่งข้าหลวงสามหัวเมืองพอสรุปได้ ๓ ประการคือ ประการแรกเพื่อให้ข้าหลวงทำหน้าที่ชำระคดีความที่เกี่ยวข้องกับคนในบังคับอังกฤษจึงมีฐานะเป็น “ข้าหลวงตระลาการ ศาลต่างประเทศ” ประการที่สองเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างกรุงเทพฯ กับเชียงใหม่ ประการที่สามเพื่อแนะนำให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญาเชียงใหม่และปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล ดังนั้น ในระยะแรกนี้จึงไม่มีนโยบายถึงขั้นยกเลิกฐานะเมืองประเทศราชหรือยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงใหม่ เพียงแต่ต้องการให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ยอมปฏิบัติตามความต้องการของรัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯ จึงอาจเปรียบเสมือน “หุ่น” หรือเครื่องจักรที่รัฐบาลกลางจะหมุนไปทางไหนก็ได้ นับว่าเป็นการเริ่มใช้วิธีการดำเนินงานแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะไม่สร้างความรู้สึกบังคับจิตใจของเจ้าเมืองเชียงใหม่ ทั้งนี้เห็นได้จากพระราชหัตถเลขารัชกาลที่ ๕ ซึ่งมีไปถึงข้าหลวงสามหัวเมือง (พ.ศ. ๒๔๒๖ – ๒๔๒๘) มีความตอนหนึ่งว่า
… การที่เป็นข้าหลวงสามหัวเมืองนี้ ต้องถือว่าเป็นผู้รักอำนาจแลรักษาคำสั่งกรุงเทพฯ ที่จะให้เป็นไปได้ตามคำสั่งทุกประการ แลต้องรู้ความประสงค์ของกรุงเทพฯ ว่าเราถือว่าเมืองเชียงใหม่ ยังไม่เป็นพระราชอาณาเขตรของเราแท้ เพราะยังเป็นประเทศราชอยู่ตราบใด แต่เราก็ไม่ได้คิดจะรื้อถอนวงษ์ตระกูลมิให้เป็นประเทศราช เป็นแต่อยากจะถือยึดเอาอำนาจ ที่จริง … เมื่อจะว่าโดยย่อแล้ว ให้ลาวเป็นเหมือนหนึ่งเครื่องจักร ซึ่งเราจะหมุนไปข้างน่าฤามาข้างหลังก็ได้ตามชอบใจ … แต่เป็นการจำเป็นที่จะต้องทำการอย่างนี้ด้วยสติปัญญาเป็นมากกว่าอำนาจกำลัง ต้องอย่าให้ลาวเห็นว่าเป็นการบีบคั้นกดขี่ ต้องชี้ให้เห็นในการที่เป็นประโยชน์ แลไม่เป็นประโยชน์เป็นพื้น …
พระบรมราโชบายที่รัชกาลที่ ๕ ทรงวางไว้ดังกล่าวนับว่าเหมาะสมกับหัวเมืองประเทศราชเชียงใหม่ ซึ่งเจ้าเมืองเชียงใหม่เคยปกครองบ้านเมืองอย่างค่อนข้างจะอิสระและมีความสัมพันธ์อันดีต่อกรุงเทพฯ เมื่อเทียบกับหัวเมืองประเทศราชในภาคใต้เช่น ไทรบุรี และปัตตานี ซึ่งพยายามต่อต้านอำนาจรัฐบาลกลางเสมอ การที่จะดำเนินการควบคุมเชียงใหม่ให้มากขึ้นกว่าเดิมย่อมจะต้องกระทบกระเทือนจิตใจต่อเจ้าเมืองผู้ต้องสูญเสียอำนาจต่างๆ ที่เคยได้รับ รัชกาลที่ ๕ จึงทรงกำชับข้าหลวงที่ส่งมาประจำการที่เชียงใหม่เสมอ เช่น ให้ระมัดระวังไม่ให้เจ้าเมืองเชียงใหม่รู้สึกว่าถูกกดขี่, สิ่งที่ข้าหลวงกระทำต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าเมือง ข้าหลวงต้องสร้างสัมพันธไมตรีอันดีกับเจ้าเมือง หากข้าหลวงคนใดมีเรื่องบาดหมางกับเจ้าเมืองและเจ้านายบุตรหลานจะเรียกตัวกลับ นอกจากนั้นยังห้ามเรียกร้องกะเกณฑ์สิ่งใดที่จะสร้างความเดือดร้อนแก่เจ้าเมืองเชียงใหม่
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลกลางจะแก้ไขปัญหาโดยส่งข้าหลวงมาประจำการที่เชียงใหม่ แต่ปัญหาทั้งกรณีพิพาทเรื่องป่าไม้และปัญหาความวุ่นวายทางชายแดนก็หาได้ยุติลงไม่ ในที่สุดรัฐบาลอังกฤษกับรัฐบาลไทยต้องทำสนธิสัญญาเชียงใหม่ฉบับที่ ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๒๖ โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้รัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
สาเหตุที่ทำให้ข้าหลวงสามหัวเมืองไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ พอสรุปได้ ๒ ประการ ประการแรก ข้าหลวงสามหัวเมืองไม่มีอำนาจชำระคดีเต็มที่ โดยข้อบังคับกำหนดให้มีอำนาจชำระความไม่เกิน ๕,๐๐๐ รูปี ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิน ดังนั้นคดีความต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่จะมาสิ้นสุดกันที่กรุงเทพฯ เสมอ ประการที่ ๒ นโยบายของรัฐบาลกลางยังไม่ประสงค์จะเปลี่ยนแปลงใดๆ มากนัก ทั้งนี้เพราะเกรงปฏิกิริยาจากเจ้าเมืองเชียงใหม่และเจ้านายบุตรหลานจึงเป็นแต่เพียงส่งข้าหลวงสามหัวเมืองมาปูทางให้กับการปฏิรูปในครั้งต่อไป ดังนั้นข้าหลวงที่ส่งมาประจำเชียงใหม่ใน พ.ศ. ๒๔๑๗ จึงมียศเพียงชั้นพระ (พระนรินทรราชเสนี พุ่ม ศรีไชยยันต์) ข้าหลวงคนแรกตำแหน่งเดิมเป็นปลัดบัญชีกรมพระกลาโหม ซึ่งมีส่วนทำให้เจ้านายบุตรหลานไม่ยำเกรงเท่าที่ควร