(ตรงกับสมัยกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ ๑ – ๗))
สรัสวดี อ๋องสกุล
เชียงใหม่ในช่วงเวลานับตั้งแต่เป็นประเทศราชของไทยใน พ.ศ. ๒๓๑๗ จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้เปลี่ยนแปลงรูปลักษณะการปกครองต่างไปจากสมัยก่อนหน้านั้น และเมื่อพิจารณาสามารถแบ่งออกเป็น ๒ สมัย ดังนี้
๑. เชียงใหม่สมัยเป็นประเทศราชของไทย (พ.ศ. ๒๓๑๗ – ก่อนการปฏิรูปสมัยรัชกาลที่ ๕)
๒. เชียงใหม่สมัยปฏิรูปการปกครองมณฑลพายัพ (พ.ศ. ๒๔๒๗ – ๒๔๗๖)
๑.๑ เชียงใหม่สมัยเป็นประเทศราชของไทย (พ.ศ. ๒๓๑๗ – ก่อนการปฏิรูปสมัย รัชกาลที่ ๕)
การฟื้นม่านและการเข้าสวามิภักดิ์ต่อไทย
เชียงใหม่ตกเป็นเมืองขึ้นพม่าระหว่าง พ.ศ. ๒๑๐๑ – ๒๓๑๗ ในช่วงเวลาสองร้อยกว่าปี เชียงใหม่ยังคงเป็นศูนย์กลางของหัวเมืองล้านนาไทยที่พม่ายึดเป็นฐานที่มั่น โดยส่งข้าหลวงมาปกครอง
โดยตรง เข้าใจว่ามีการควบคุมอย่างเข้มงวด ชาวเชียงใหม่ได้ก่อการกบฏหลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ซึ่งเป็นช่วงที่กษัตริย์พม่าอ่อนแอลง เชียงใหม่สามารถแยกตัวเป็นอิสระอยู่ระยะหนึ่งและถึงปี พ.ศ. ๒๓๐๖ พม่าก็สามารถตีเชียงใหม่ได้อีกครั้ง ซึ่งในครั้งหลังนี้พม่าได้กวาดต้อน ผู้คนไปเป็นเชลยจำนวนมาก ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า “ … ไพร่ไทยชาวเชียงใหม่ไปอังวะนับ เสี้ยง …” ทั้งนี้เพื่อบั่นทอนกำลังมิให้เชียงใหม่รวมกำลังต่อต้านพม่าได้อีก
อย่างไรก็ตามความคิดของชาวเชียงใหม่ที่จะ “ฟื้นม่าน” ก็ยังมีอยู่เสมอดังปรากฏเหตุการณ์การต่อสู้กับโป่มะยุง่วน (โป่หัวขาว) เจ้าเมืองเชียงใหม่ ที่กลางเมืองเชียงใหม่มีสองครั้ง ครั้งแรก พ.ศ. ๒๓๑๒ จักกายน้อยพรหมเสียชีวิตในที่รบ ครั้งที่สอง พ.ศ. ๒๓๑๔ โดยพระยาจ่าบ้าน (บุญมา) ซึ่งมีกำลังน้อยและอาวุธก็ไม่พร้อมจึงพ่ายแพ้ พระยาจ่าบ้านหนีไปหาพระยากาวิละเจ้าเมืองลำปางเพื่อปรึกษาทางฟื้นม่านซึ่งได้ตกลงจะร่วมมือกัน โดยใช้วิธีหันไปสวามิภักดิ์ต่อฝ่ายไทยแล้วช่วยกันขับไล่พม่าออกไปในปี พ.ศ. ๒๓๑๗
ความคิดที่จะฟื้นม่านของผู้นำชาวล้านนาไทย ตรงกับความต้องการของฝ่ายไทยที่พยายามขับไล่พม่าออกไปจากล้านนาไทยอยู่แล้ว กล่าวคือเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกู้อิสรภาพและจัดตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ทรงปราบปรามชุมนุมต่างๆ ที่ตั้งตนเป็นอิสระจนสามารถรวบรวมหัวเมืองภายในให้เป็นปึกแผ่นอีกครั้งหนึ่งในราว พ.ศ. ๒๓๑๓ หลังจากนั้น ทรงเห็นความจำเป็นที่ต้องขับไล่พม่าออกไปจากล้านนาไทยให้ได้ ทั้งนี้เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับจุดยุทธศาสตร์ของล้านนาไทย ซึ่งอยู่ระหว่างพม่ากับไทย หากไทยไม่สามารถครอบครองล้านนาไทยไว้ในอำนาจ อันตรายจากพม่าจะมาถึง และเข้าใจว่าสาเหตุที่พระเจ้าตากสินและกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ให้ความสำคัญต่อหัวเมืองประเทศราชล้านนาไทยมากนั้น เพราะเป็นบทเรียนจากการเสียกรุงศรีอยุธยาทั้งสองครั้งพม่าสามารถยึดเอาล้านนาไทยเป็นแหล่งสะสมเสบียงอาหาร อาวุธ และกำลังคนเข้าร่วมในสงคราม ทำให้ไทยเสียเปรียบมากจนพ่ายแพ้สงคราม ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดของไทยต้องยึดล้านนาไทยให้ได้ แนวความคิดดังกล่าวเห็นได้จากพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๑ มีความตอนหนึ่งว่า “และราชการข้างหัวเมืองฝ่ายเหนือ แม้กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์คิดทำไม่สำเร็จ พระเศียรก็จะไม่ได้คงอยู่กับพระกายเป็นแท้”
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงยกทัพไปตีเชียงใหม่ครั้งแรก พ.ศ. ๒๓๑๓ โดยให้เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) เป็นทัพหน้า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนำทัพหลวง ๑๕,๐๐๐ คน เข้าล้อมเมืองไว้ กองทัพไทยสามารถยกขึ้นไปถึงลำพูนได้โดยสะดวก ไม่ได้รับการต่อสู้ขัดขวางจาก หัวเมืองรายทางเลย แต่การตีเชียงใหม่ครั้งแรกไม่ได้ผล พระเจ้าตากสินมหาราชทรงยกกองทัพไปอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๓๑๗ ครั้งนี้เป็นโอกาสของผู้นำชาวล้านนาไทยจะได้ร่วมมือกับกองทัพไทยขับไล่พม่าออกไป
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้นำล้านนาไทยทำการฟื้นม่านและตัดสินใจเลือกข้างฝ่ายไทยนั้น ตามหลักฐานเท่าที่ปรากฏเข้าใจว่าเป็นผลมาจากการปกครองของโป่มะยุง่วน (โป่หัวขาว) ที่ใช้นโยบาย แข็งกร้าวกระทำการกดขี่ข่มเหงชาวล้านนาไทยมากยิ่งกว่าโป่อภัยคามิณีเจ้าเมืองคนก่อนซึ่งปรากฏในหลักฐานพื้นเมืองว่า
ในกาลหว่างนั้น อาชญามารก็แฮงกล้าแข็งฮ้อนไหม้ หาที่จักไว้อก วางใจก็บ่ได้ เก็บเงินคำใส่ฑัณฑ์กรรมผูกมัดฮักมุบแขนขา เอาแม่ฮ้าง นางสาว ส่งหาบนาบคาว ยามโป่หัวหงอก มาเป็นมยุโหงวร นั่งแต่งอยู่เมืองพิงซ้ำฮ้ายนักบางปีก็บ่มีสักเตื่อแล
ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า “โป่หัวขาวกระทำร้อนไหม้แก่บ้านเมืองแล”
นอกจากนั้นหลักฐานทางฝ่ายพม่าคือพงศาวดารฉบับหอแก้ว กล่าวถึงโป่มะยุง่วน (โป่ หัวขาว) กระทำการริดรอนอำนาจของพระยาจ่าบ้าน พระยาสามล้าน พระยาแสนหลวงแห่งเมืองเชียงใหม่และพระยากาวิละ เจ้าเมืองลำปาง ซึ่งผู้ปกครองพื้นเมืองดังกล่าวเคยคุมไพร่พลไปช่วย ราชการศึกจีนที่กรุงอังวะ มีความดีความชอบกษัตริย์พม่าให้อำนาจปกครองตามเดิม ความบาดหมางระหว่างพระยาจ่าบ้านกับโป่มะยุง่วน (โป่หัวขาว) ทำให้มีการปะทะกันที่กลางเมืองเชียงใหม่และพระยาจ่าบ้านชักชวนพระยากาวิละ “ฟื้นม่าน” ส่วนโป่มะยุง่วนใช้วิธีจับครอบครัวของพระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละคุมขังไว้ และออกคำสั่งจับพระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละส่งไปชำระโทษที่กรุงอังวะ ซึ่งน่าจะเป็นแรงบีบคั้นให้พระยาทั้งสองเข้ามาสวามิภักดิ์กับฝ่ายไทย
เมื่อพิจารณาการตัดสินใจเข้ากับฝ่ายไทยของพระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละ ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ล้านนาไทยที่สำคัญ จากฐานะเมืองขึ้นของพม่ามาเป็นประเทศราชของไทย โดยที่ก่อนหน้านั้นผู้นำชาวล้านนาไทยต่างยอมรับในอำนาจของพม่า เช่น พระยาสุลวะลือไชย (ทิพย์ช้าง) ในที่สุดต้องยอมรับอำนาจของกษัตริย์อังวะโดยส่งบรรณาการไปให้ ซึ่งความดีความชอบครั้งนั้น กษัตริย์อังวะได้พระราชทานชื่อให้ใหม่ว่า พระยาไชยสงครามเจ้าชายแก้วได้รับความ ช่วยเหลือจากกษัตริย์อังวะโดยส่งกองทัพมาช่วยปราบท้าวลิ้นกาง บุตรพ่อเมืองคนเก่าที่แย่งชิงเมืองไป เมื่อการสู้รบยุติลงกษัตริย์อังวะแต่งตั้งให้เจ้าชายแก้วเป็นเจ้าเมืองลำปางในปี พ.ศ. ๒๓๐๗
แผนการของพระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละที่จะเข้าสวามิภักดิ์กับฝ่ายไทยนั้นเริ่มต้นโดยพระยาจ่าบ้านอาสากับโปสุพลาแม่ทัพพม่าที่อยู่เชียงใหม่ว่าจะเป็นกองหน้าล่องลงไปก่อนเพื่อเอาสวะและไม้ซุงออก ทัพเรือจะได้ยกไปตีกรุงธนบุรีสะดวก โปสุพลาเห็นชอบเกณฑ์ไพร่พลติดตามพระยา จ่าบ้านไป เมื่อสบโอกาสพระยาจ่าบ้านสังหารไพร่พลพม่าแล้วรีบไปหาเจ้าพระยาจักรี (รัชกาลที่ ๑) แม่ทัพฝ่ายไทยที่กำแพงเพชร
ส่วนพระยากาวิละได้ออกอุบายให้เจ้าคำโสมแต่งกองทัพคุมกำลังพม่าส่วนใหญ่แสร้งยกทัพไปสกัดกองทัพไทยเพื่อไม่ให้พม่าระแวงสงสัย เมื่อได้โอกาสพระยากาวิละคุมไพร่พลสังหารทหารพม่าซึ่งอยู่รักษาการณ์ในเมืองลำปางล้มตายจำนวนมาก รวมทั้งจักกายศิริจอสูแม่ทัพพม่าด้วย จากนั้นมอบให้เจ้าดวงทิพย์ล่วงหน้าไปสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าตากสินมหาราช แล้วพระยากาวิละก็นำบรรณาการออกต้อนรับกองทัพหลวง และกองทัพพระยากาวิละได้ร่วมกับกองทัพหลวงเข้าตีเมืองเชียงใหม่สำเร็จ
เมื่อเสร็จสงครามเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๓๑๗ พระเจ้าตากสินมหาราชทรงตอบแทนความดีความชอบ โดยโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระยาจ่าบ้านเป็นพระยาวิเชียรปราการครองเมืองเชียงใหม่ พระยากาวิละครองเมืองลำปาง พร้อมทั้งทรงแต่งตั้งญาติพี่น้องของพระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ เพื่อช่วยราชการบ้านเมืองทั้งสองด้วย นับเป็นการวางรากฐานการปกครองหัวเมืองประเทศราชล้านนาไทยเป็นครั้งแรก และครั้งนี้พระเจ้าตากสินมหาราชทรงมอบ “อาญาสิทธิ์” แก่ เจ้าเมืองทั้งสองให้ปกครองบ้านเมืองกันเองตามธรรมเนียมเดิมของล้านนาไทย
หลังจากที่เชียงใหม่ตกเป็นประเทศราชของไทยแล้ว พม่ายังพยายามยึดเชียงใหม่กลับคืนโดยยกกองทัพเข้าเมืองมาหลายครั้ง (ครั้งแรก พ.ศ. ๒๓๑๘) พระยาจ่าบ้านป้องกันเมืองเชียงใหม่อย่าง
เข้มแข็ง แต่ในที่สุดก็รักษาเมืองไว้ไม่ได้เพราะผู้คนมีน้อยและอยู่ในสภาพอดอยาก ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึงสภาพบ้านเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้นว่า
… เจ้าพระยาจ่าบ้านมีกำลังฉกรรจ์ ๑,๙๐๐ ข้ามขางเวียงอยู่ ผู้คนเป็นอันอยากน้ำกั้นเข้ามามากนัก ช้าง ม้า วัว ควาย เป็ด ไก่ หมู หมา หัวบุกหัวบอน หัวกล้วย … จั๊กก่า จะเล้อ จิ้งหรีด ตึ๋กแตน ก็บ่ค้าง …” และ “ยามนั้นเวียงเชียงใหม่เป็นห่ารกอุกต้นอันด้วยคุ่มเครือเขาเถาวัลย์ เป็นที่แรดช้างเสือหมีผู้คนก็บ่หลายข้อนกันอยู่เท่าพอหมดแต่ร่มชายคาแลฯ หนทางเดินไปมาหากันเหตุว่าบ่มีโอกาสจักแผ้วจักถาง
พระยาจ่าบ้านจึงต้องถอยไปตั้งมั่นที่วังพร้าวและลำปาง เมื่อกองทัพพม่ากลับไปพระยา จ่าบ้านก็จะกลับไปตั้งเมืองเชียงใหม่อีกในช่วงเวลาสั้นๆ จึงเป็นลักษณะกลับไปกลับมา และช่วงปลายสมัยธนบุรี เชียงใหม่ถูกปล่อยให้เป็นเมืองร้างรวมทั้งเมืองอื่นๆ ในล้านนาไทยด้วย จะมีแต่เมืองลำปางที่เป็นแหล่งที่มั่นของฝ่ายไทย