ท็อปเชียงใหม่แนะนำให้ไปชมวัดบุพพาราม เป็นวัดคู่เมืองเชียงใหม่ ตั้งอยู่ตรงข้ามเยื้องกับวัดแสนฝาง ติดถนนท่าแพ ถนนยอดฮิตของนักท่องเที่ยว ช่วงนี้คนจีนเยอะมากเดินขวักไขว่เต็มไปหมดครับ เพราะถนนท่าแพมีวัดอยู่สองฟากถนนเรียงรายกันเป็นระยะๆ และเป็นย่านขายสินค้าที่ระลึก
วัดบุพพาราม อยู่ติดถนนท่าแพ ถนนเส้นนี้ขับขี่ทางเดียวครับ ดูภาพแล้วก็จำไว้ครับ หากเลยจะต้องวนรถไกล หรือไม่งั้นก็ไม่จอดที่วัดมหาวัน แล้วเดินย้อนกลับมาก็ได้ครับ ภายในวัดบุพพารามมีสิ่งน่าสน ที่หอมณเฑียรธรรม ซึ่งสร้างถวายเป็นสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมหาราช เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ไปดูประวัติวัดบุพพารามกันครับ
ประวัติวัดบุพพาราม
- เมื่อพระเจ้าศรีสุธรรมติโลกราชสวรรณคตชังรายัตตราช (พระเจ้ายอดเชียงราย) ผู้เป็นพระโอรส ประสูติปีชวด มีพระชมมายุได้ 31 พรรษาได้เสวยราชสมบัติเมื่อปีมะแม พระองค์พร้อมด้วยพลนิกาย เสนาอำมาตย์อัญเชิญพระบรมศพของพระเจ้าติโลกราช ซึ่งเป็นพระราชบิดาของพระองค์ไปด้วยรางทองและถวายพระเพลิงที่มหาโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) ครั้นถวายพระเพลิงแล้วจึงได้ก่อสถูปเจดีย์ไว้ ณ ที่นั่น เพื่อประดิษฐานพระอัฐิธาตุ แล้วพระราชารับสั่งให้สร้างตโปธาราม (วัดล่ำเปิง) อยู่ทางทิศตะวันตกของสนามบินเชียงใหม่ในปัจจุบัน เมื่อปีชวด จุลศักราช 854
- พระองค์เสวยราชสมบัติได้ 9 ปี ถึงปีเถาะ จึงสละราชสมบัติให้พระราชกุมาร ซึ่งเป็นพระโอรสของพระองค์ ครั้นมอบให้แล้วไก้ดำรงค์พระชมมายุอีก 13 ปี พระองค์ก็สวรรคตในปีขาล สิริรวมพระชนมาอายุได้ 51 พรรษา พระราชผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าชังรายัตตราช (พระเจ้ายอดเชียงราย) ประสูติปีขาล คือ “พระเจ้าดิลกปนัดดาธืราช” (พระเมืองแก้ว) เมื่อพระองค์มีประชนมายุ 14 พรรษา ได้รับการสถาปนาราชาภิเษก เมื่อวันเพ็ญ เดือน 4 จุลศักราช 854 นับแต่พระองค์ได้รับราชาภิเษกแล้ว พระองค์มีพระพุทธศาสนามาก ทั้งประกอบด้วยปสาทะศรัทธาอย่างดีเยี่ยมและประกอบด้วยเจตนาศรัทธา เป็นเครื่องบริจาคทานวัตถุ เป็นเหตุให้เกิดปัจจัยในอันที่จะบริจากทานโดยไม่มีขีดขั้น
- นับตั้งแต่พระองค์ได้รับราชาภิเษกมา 1 ปี คือปีมะโรง เดือน 5 แรม 7 ค่ำ วันอังคาร จุลศักราช 855 พ.ศ.2036 พระเจ้าดิลกปนัดดาธิราช พระองค์ได้ทรงรับสั่งให้สร้างพระอารามๆ หนึ่งไว้ ณ ที่พระราชอุทยาน ซึ่งเป็นที่ประทับของพระเจ้าติโลกราช ผู้เป็นพระจ้าปู่และเป็นที่ประทับของพระราชบิดา พระองค์จึงขนานนามของวัดว่า “วัดบุพพาราม” ทั้งนี้เพราะถือเอานิมิตว่าได้ตั้งอยู่ทางทิศบูรพาแห่งนับพิสิราชธานี (นครพิงค์เชียงใหม่) ต่อมาเมื่อพระองค์สร้างวัดบุพพารามแล้ว ได้ 3 ปี คือ ปีมะเมีย พระองค์ทรงสร้างปราสาทไว้ ณ ท่ามกลางมหาวิหารอีก 1 หลัง เพื่อประดิษฐานพระพุทธปฏิมากร หล่อด้วยทองแดงล้วน มีสนธิ 8 แห่ง น้ำหนัก 1 โกฏิ (ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวิหารหลังใหญ่) ต่อมาอีก 4 ปี ในปีระกา พระเจ้าดิลกปนัดดาธิราชได้รับสั่งให้สร้างหอมณเฑียรธรรมอีก 1 หลัง สำหรับปดิษฐานพระไตรปิฏกฉบับลงทองของล้านนาไทย ศิลปหัตถกรรมล้านนาประดับตกแต่งอย่างปราณีตสวยงามเหมือนเวชยันตปราสาท ในปี พ.ศ.2439 จ.ศ.1358 จำเดิมแต่การสร้างวัดมา มีอายุได้ 502 ปี
- หมายเหตุ ส่วนอาณาเขตของวัด ประวัติ (ตำนาน) ไมได้กล่าวไว้ในสมัยนั้น ว่ามีเนื้อที่กว้างยาวเท่าไหร่ ได้ความจากผู้เฒ่าผู้แก่เพียงว่า วัดอุปาหรือวัดอุปาราม (บุพพาราม) มีเนื้อที่กว้างยาวมาก ทิศตะวันออกจรดถึงคลองแม่ข่า ทิศตะวันตกจรดถึงวัดมหาวัน ความจริงจะกว้างยาวเท่าไหร่นั้น ข้าพเจ้าเองก็ไม่ทราบได้ แต่น่าจะพิสูจน์จากคำสันนิษฐานผู้สูงอายุตรงที่บ้านของพ่อหนานมังคละ แม่หมูปวรธิสรรค์ ถนนท่าแพ ขณะนี้ยังมีมูลอิฐปรากฏเป็นหลักฐาน บางคนก็อ้างว่าเป็นฐานของอุโบสถวัดอุปาราม คือเป็นอารามที่มีอาณาเขต กว้าง ยาว มากนั่นเอง ปัจจุบันมีเนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา คือทิศเหนือติดกับถนนท่าแพ มี 2 เส้น 13 วา ทิศใต้ติดกับบ้าน มี 2 เสิน 4 วา ติดตะวันตกติดกับถนนท่าแพซอย 2 ร่มโพธิ์ มี 2 เส้น 19 วา ตามที่ได้สำรวจแล้ว ก็มีในบริเวณกำแพงล้อมรอบวัดเท่านั้น ถือเอาตามความเป็นจริงในปัจจุบันเพียงเท่านี้
พระอุดมกิตติมงคล รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าอาวาส วัดบุพพาราม อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 19 กุมภาพันธ์ 2539
ลักษณะความสำคัญและจุดเด่น
ความโด่ดเด่นของวัด คือ วิหารหลังเล็กที่ยังรักษาแบบโบราณไว้ อีกทั้งยังมีพระพุทธไทยภาลประสิทธิโชค ประดิษฐ์ อยู่ด้านใน มีหอมณเฑียรธรรม ชั้น 1 มีภาพประติมากรรมเรื่องราวของเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ประเพณี เทศกาลที่เล่าเรื่องทั้ง 12 เดือน ขึ้น 2 ประดิษฐานพระพุทธนเรศสักชัยไพรีพินาศ พระพุทธรูปไม้สักขนาดหน้าตักกว้าง 1 วาเศษ มีอายุประมาณ 400 ปี ตามประวัติเล่าว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงยกทัพจากเมืองอยุธยาเพื่อขึ้นมาปราบอริราชศัตรูที่มารุกรานเมือง เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2147 จนทัพศัตรูได้ล่าถอยไปทางเมืองแหงและเมืองต๋วน สมเด็จพระนเรศวรฯจึงพักรบและสร้างพระพุทธนเรศศักดิ์ชัยไพรีพินาศองค์นี้ขึ้น
อ้างอิง
รายงานโครงการ การศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดการให้แสงสว่างโบราณสถานในตัวเมืองเชียงใหม่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ที่ตั้งวัดบุพพาราม
ตั้งอยู่ 143 ถนนท่าแพ ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โทร :088-2517874