
ช่วงเศรฐษกิจตกต่ำ ผู้คนมากมายต่างสิ้นหวัง และพยายามหาที่พึ่งพิงทางจิตใจ จึงได้หันมาพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิมากขึ้น บ้างก็เชื่อแบบงมงาย บ้างก็เชื่อถือตามแฟชั่นก็มี แต่เทพองค์หนึ่งที่นิยมสัการะบูชากันมานมนานและแพร่หลายก็คือ พระพิฆเนศวร์ หรือพระคเนศ หรือพระคณปติ ตามแต่จะเรียกกัน ด้วยความเชื่อที่ว่าเทพเจ้าองค์นี้คือ “เทพเจ้าแห่งความสำเร็จ”
วันนี้ผมจึงจะพาท่านเที่ยวในเชิงศึกษาประวัติของเทพเจ้าองค์นี้กันครับ หากจะเอาแบบให้รู้แจ้งเห็นจริง คงต้องไปที่นี่กันเลยครับ “พิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศวร์” ที่ อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ที่รวบรวมเรื่องราวของเทพเจ้าองค์นี้ใว้มากที่สุดในประเทศ ก่อนเดินเยื่ยมชมผมขอเล่าประวัติของ พระพิฆเนศ ให้ท่านๆที่ยังไม่ทราบ หรือทราบเพียงเล็กน้อย ได้รู้ในฉบับย่อ แต่ค่อนข้างละเอียดเลยนะครับ..
พระคเนศ พระพิฆเนศวร์ หรือพระคณปติ เป็นนามของเทพเจ้าสำคัญองค์หนึ่งของศาสนาฮินดู หรือศาสนาพราหมณ์ เป็นโอรสของพระศิวะ กับนางปารวตี(พระอุมา) ที่มีลักษณะของร่างกายเป็นมนุษย์ มีเศียรเป็นช้าง ซึ่งปรากฏชื่อ พระคเนศครั้งแรกเป็นยุคปราณะของประเทศอินเดีย ในฐานะเทพเจ้าแห่งอุปสรรค ผู้บันดาลให้เกิดอุปสรรค และบันดาลให้เกิดความสำเร็จเนื่องจากพระคเนศเป็นที่นับถือมาทุกยุค ทุกสมัย จึงปราฏรูปเคารพ ในรูปแบบของงานประติมากรรมอยู่มากมาย ทั้งที่แกะจากศิลา โลหะสำริด ทองเหลือง ปูนปั้น ดินเผา ไม้ และงาช้าง อันเป็นเครื่องยืนยันการนับถือพระคเนศในดินแดนต่างๆ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันได้แก่อาณาจักรฟูนัน อาณาจักรกัมพูชา อาณาจักรจัมปาในเวียดนาม ปัจจุบัน อาณาจักรพม่า ชวา อาณาจักรทวารวดีในไทย และอาณาจักรศรีวิชาในคาบสมุทรเกาสุมาตรา
ในประเทศไทย ในยุคปัจจุบัน ก็มีการนับถือพระคเนศและบูชาในฐานะเทพสำคัญด้านต่างๆ จึงมีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ พระราชพิธีในราชสำนักไทย ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก(รัชกาลที่1) ได้แก่ พระราชพิธีบรมราชาภิเศก พระราชพิธีตรียัม พวายตรีปวาย แลละพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างเผือก เป็นต้น
แม้ในงานนาฏศิลป์ ดุริยางศิลป์ และงานช่างไทยก็มีการนับถือพระคเนศ โดยมีการบูชาในพิธีไหว้ครูก่อนการแสดงหรือการเรียนศาสตร์นั้นๆ ด้วยเชื่อว่าท่านเป็นเทพแห่งอุปสรรค บูชาท่านเพื่อป้องกันมิให้เกิดอุปสรรค อันจะนำไปสู่ความสำเร็จ ทั้งยังบูชาในฐานะที่ทรงมีสติปัญญาหลักแหลมอีกด้วย
ในหมู่เทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์ พระคเนศที่มีตัวเป็นมนุษย์มีเศียรเป็นช้างนั้นนับเป็นเทพที่มีรูปลักษณ์โดดเด่นที่สุด ในการทำรูปเคารพจึงมักนิยมทำเป็นรูปบุรุษร่างอ้วนพุงพลุ้ย ในท่านั่งหรือยืนบนหลังหนูที่เป็นพาหนะของท่าน กรหรือมือมักมี 1-16 กรถืออาวุธต่างๆกันตามปางหรือตามเนื้อหาของประวัติ
แต่ที่นิยมกันคือ 4 กร แต่ละกรถือบ่วงบาศ ตะขอเกี่ยวช้าง ขนมโมทกะ และแสดงปางประทานพร ซึ่งรูปแบบหรืออิริยาบถต่างๆนี้สามารถวิเคราะห์ตีความได้ว่าเป็นพระคเนศในปางใด ทั้งยังแสดงถึงสกุลช่างศิลปกรรมที่หลากหลายตลอดจนพัฒนาการของคติความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาพระคเนศอีกด้วย
พิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศวร์แห่งนี้ ถือกำเนิดโดย “คุณปัณฑร ทีรคานนท์” โดยเริ่มจากการที่เป็นผู้ที่เคารพนับถือพระคเนศอยู่แล้วเป็นการส่วนตัว จึงได้สะสมรูปเคารพพระคเนศในอิริยาบถต่างๆมานานกว่า 30 ปี และระหว่างนั้นก็มีเพื่อนฝูง คนรู้จักที่เคารพนับถือพระพิฆเนศวร์มาขอชมบ่อยครั้ง คุณปัณฑร จึงเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ผู้ที่สนใจทั่วไปได้เข้าชม และเข้ามาค้นคว้าศึกษาหาความรู้ต่อไป หากใครอยากจะศึกษาเรื่องราวของ พระพิฆเนศ อย่างชนิดเจาะลึก ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปถึงประเทศอินเดีย เพราะในเมืองไทย โดยเฉพาะที่นี่ มีผู้ชำนาญการด้านนี้ที่จะคอยให้คำตอบท่านได้อย่างครบถ้วนแล้วครับ

ทราบประวัติพระพิฆเนศวร์(แทบจะละเอียด) และการกำเนิดของพิพิธภัณฑ์กันมาอย่างครบถ้วนแล้ว เรามาเดินชมกันดูดีกว่าว่ามีอะไรอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้บ้างครับ ตามข้อมูลที่ผมได้มา ที่นี่มีงานประติมากรรมรูปเคารพ ที่ได้รวบรวมมาจากประเทศต่างๆ มากกว่า 1,000ชิ้นเลยทีเดียวครับ
ทันทีที่ก้าวผ่านประตูภายในบริเวณพิพิธภัณฑ์ จะมีผู้แนะนำมาต้อนรับและพาเราไปไหว้สักการะเพื่อขอพรกับองค์พระพิฆเนศวร์ เป็นอันดับแรกก่อนที่เราจะไปชมในที่อื่นๆ หรือใครอยากจะขอชมภาพวีดีโอที่เกี่ยวกับประวัติและความเป็นมาต่างๆ ก็ขอดูได้ที่อาคารด้านขวามือนะครับ แต่ผมขอไปไหว้องค์พระคเนศก่อน ในบริเวณด้านหน้า.”อาคารบูชา” ซึ่งอาคารหลังนี้ แต่เดิมเคยเป็นพิพิธภัณฑ์หลังเก่า แต่ปัจจุบันใช้เป็นห้องบูชาและจัดแสดงกิจกรรมสาธิตการประกอบพิธีบูชาองค์พระพิฆเนศแบบฮินดู ภายในอาคารบูชา ได้จัดแสดง “เทวรูปพระพิฆเนศประทับพร้อมครอบครัว” ซึ่งแกะสลักด้วยไม้ทั้งหมด อาจกล่าวได้ว่ามีเพียงแห่งเดียวในโลกเลยทีเดียว เพราะแม้ในประเทศอินเดียก็ไม่ปรากฏพระพิฆเนศประทับอยู่พร้อมกันทั้งครอบครัว
จากที่สักการะ และเยี่ยมชมภายในอาคารบูชาแล้ว เราเดินออกมาด้านนอกอาคาร จะได้พบกับรูปประติมากรรมหนู ซึ่งเป็นพาหนะของพระพิฆเนศอยู่ ผู้แนะนำได้แนะนำผมว่า หากต้องการให้พรไปถึงพระพิฆเนศให้ฝากบอกเจ้าหนูไว้ โดยการขอพรผ่านทางหนูนี้ ให้เอามือด้านหนึ่งปิดหูของหนูข้างหนึ่งไว้ แล้วกระซิบขอพรที่ข้างหูหนูอีกด้านหนึ่ง เท่านี้ เจ้าหนูก็จะนำสารไปบอกยังพระพิฆเนศ ผมไม่รอช้าที่จะทำตามคำแนะนำเลยสักนิด แม้หนูตัวนี้จะอยู่กลางแดดที่แสนจะร้อน (แต่ไม่รู้ว่าเจ้าหนูจะจำได้หมดรึป่าว..เล่นขอไปซะเยอะเลยครับ)
จากนั้นก็ไปชมยัง “อาคารจัดแสดง 1 และ 2” ซึ่งตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมของชาวฮินดูในเกาะบาหลี รวมถึงสีของอาคารก็จะเป็นสีดั้งเดิมที่ชาวบาหลีใช้กัน ภายในอาคารทางด้านซ้ายจัดแสดงพระพิฆเนศที่รวบรวมมาจากสถานที่ต่างๆในดินแดนเอเชีย ส่วนอาคารทางด้านขวาเมือเข้าไปจะเจอกับองค์พระพิฆเนศประทับบนชิงช้า เราสามารถไกวชิงช้าโดยการดึงเชือกไปมาเบาๆเพื่อเป็นการถวายการบูชาแด่องค์พระพิฆเนศได้
ถัดไปด้านข้างจะเห็นราชรถจำลองลากด้วยหนู 5 ตัว ซึ่งแสดงถึงกิเลศทั้ง 5 ประการของมนุษย์ ภายในอาคารนี้ยังจัดแสดงองค์พระพิฆเนศทั้ง 32 ปาง และยังมีรูป “คเณศานี” หรือพระพิฆเนศในรูปแบบผู้หญิง โดยสังเกตจากรูปร่างที่มีทรวดทรงองค์เอว มีหน้าอก แกะสลักจากหินทรายสีขาว ที่หาชมได้ยาก ภายในอาคารจัดแสดงทั้ง 2 หลังนี้จะมีคำบรรยายแต่ละองค์ให้ผู้ที่เข้าชมได้เข้าใจ
ออกจากอาคารจัดแสดงมา เห็นพระพิฆเนศในปางที่แปลกมากๆอีกปางหนึ่ง (ซึ่งตอนเข้าไปไม่ทันได้สังเกตุ) เป็นปางลักษณะยืนกอดกัน ปางนี้เกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคนในญี่ปุ่นจะนับถือพระองค์เป็น “มหาเทพแห่งความรัก และความสมหวัง” และยังเชื่อกันว่าหากใครบูชาพระพิฆเนศปางนี้ จะมีแต่มิตรที่เป็นที่รัก และเป็นคนที่สมหวังในความรัก หากใครไร้คู่อยู่ ลองบูชาปางนี้ดูนะครับ (ได้ผลยังไงบอกเล่ากันหน่อยนะครับ)
ออกมาด้านซ้ายมือจะเป็น “ห้องเช่าบูชา” ด้านหน้า “ห้องเช่าบูชา” จะมีพระพิฆเนศให้เราสรงน้ำ และด้านในก็มีองค์พระพิฆเนศมากมายหลายปาง และหลายรูปแบบ มีทั้งเก่าและใหม่ ให้เช่าบูชากันตามความเชื่อและและแรงศัทธา
และอีกที่สำคัญมากๆคือ “เทวาลัยพระพิฆเนศ” ที่เกิดขึ้นจากความศรัทธาของเจ้าของพิพิธภัณฑ์ อิฐทุกก้อนผ่านการสวดและเขียนอักขระ ก่อนนำไปประกอบเป็นเทวาลัย โดยเทวาลัยแห่งนี้สร้างขึ้นตามคัมภีร์มารสานศาสตร์วิทยาของอินเดีย เป็นสถาปัตยกรรมที่ได้จำลองแบบเทวาลัยจากประเทศเนปาล ผสมผสานสถาปัตยกรรมพม่า และล้านนาบางส่วน
ซุ้มประตูเทวาลัยแกะสลักเป็นองค์พระพิฆเนศประทับยืนแบบตริพังพร้อมครอบครัว อันได้แก่ พระมเหสี 2 พระองค์ และโอรส 2 พระองค์ ส่วนซุ้มหน้าต่าง 4 บาน แกะสลักเป็นเรื่องราวขององค์พระพิฆเนศที่เกิดขึ้นในแต่ละยุค
ภายในได้จำลอง คณปติโลก หรือโลกอันเป็นที่ประทับขององค์พระพิฆเนศ ซึ่งได้กล่าวไว้ในคัมภีร์ว่า พระองค์ทรงประทับอยู่บนเกาะกลางมหาสมุทร ที่เต็มไปด้วยน้ำอ้อย ในเวลาที่มีลมพัดจะเกิดคลื่นซัดเอาเพชรพลอยและอัญมณีเข้าหาฝั่ง ส่วนพระองค์ประทับยืนบนดอกบัว ซึ่งมีกลีบดอกเขียนอักษรโอมภายใต้ต้นกัลปพฤกษ์
ภายในเทวาลัยนี้จึงได้ถ่ายทอดความเชื่อดังในคัมภีร์ โดยพื้นของเทวาลัยได้ใช้แผ่นโลหะดุนลายเป็นรูปดอกบัวแทนน้ำหรือมหาสมุทรน้ำอ้อย ฐานสี่เหลี่ยมกลางเทวาลัยแทนเกาะอันเป็นที่ประทับ กลับดอกบัวทุกกลีบจารึกอักษรโอมในภาษาต่างๆ ถึง 12 ภาษา ส่วนต้นกัลปพฤกษ์ถูกแทนด้วย คณปติฉัตร หรือ ร่ม
พิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศนี้ตั้งอยู่ ที่ 277 หมู่ 10 ต.ยางคราม อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ หากขับรถไป ให้ขับรถไปบนถนนเชียงใหม่-ฮอด อยู่กิโลเมตรที่ 35 กลับรถแล้วเลี้ยวเข้าซอยไปอีก 5.5 กิโลเมตร พิพิฆภัณฑ์แห่งนี้เปิดทุกวันตั้งแต่ 9.00 – 17.00น. และไม่เก็บค่าเข้าชมครับ