ก่อตั้งขึ้นปี พ.ศ. 2528 โดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง จากการรับสั่งให้เจ้าหน้าที่เดินทางสำรวจสภาพพื้นที่ ซึ่งมีชาวเขาเผ่าม้งอาศัยอยู่ด้วยการถางพื้นที่ป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่นและพืชอื่นๆ แผนพัฒนาจึงได้ถูกกำหนดขึ้นให้สอดคล้องกับความต้องการของชาวเขาด้วยการส่งเสริมให้ปลูกพืชทดแทนฝิ่น โดยได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แตง มีพื้นที่รับผิดชอบ 17 หมู่บ้าน 451 ครัวเรือน บนพื้นที่ 84.27 ตารางกิโลเมตร หรือ 52,670 ไร่ ประชากรประกอบด้วยคนพื้นเมืองและเผ่าม้ง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินเขาและภูเขาสลับซับซ้อน ที่ราบมีน้อยมาก สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 700-1,250 เมตร อุณหภูมิเฉลี่ย 24 องศาเซลเซียส
กิจกรรมการท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวเชิงเกษตร
- ชมวิวทิวทัศน์สวยงามของแปลงปลูกชาลุงเดช
- เรียนรู้วิธีการชงชาและชิมชา ตลอดจนขั้นตอนกรรมวิธีการแปรรูปชาและการบรรจุหีบห่อที่โรงงานชาบ้านปงตอง
- ชมโรงเรือนเพาะเห็ดระบบปิด เช่น เห็ดนางรมภูฎาน เห็ดนางรมฮังการี เห็ดปุยฝ้าย ฯลฯ
- ชมแปลงส่งเสริมผลผลิตตามฤดูกาล เช่น กาแฟอาราบิก้า อะโวกาโด ฟักทองญี่ปุ่น ฯลฯ
- ชมแปลงกล้วยไม้ซิมบิเดี้ยมขนาดใหญ่หลากหลายสีสัน
- ชมสวนส้มของเกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวง
- ชมการเก็บและแปรรูปเมี่ยงอาหารขึ้นชื่อของชุมชน
การท่องเที่ยวธรรมชาติ
- จุดชมวิวดอยม่อนเงาะ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,425 เมตร ด้วยความสวยงามของชั้นเขา จึงสามารถชมทะเลหมอก และชมพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก เป็นมุมกว้าง 360 องศาได้อย่างสุดลูกหูลูกตา
- เงือกผา เป็นหินงอกที่มีลักษณะคล้ายนางเงือกหันหน้าเกาะผาอยู่
- บ่อน้ำทิพย์ เป็นแอ่งน้ำซึมอยู่ภายในถ้ำ และมีน้ำตลอดทั้งปี
- เลือดผา ชาวบ้านมีความเชื่อว่าสามารถใช้รักษาโรค พบได้บริเวณซอกผา
- ถ้ำลม จะมีลมพัดออกมาจากถ้ำตลอดเวลา รู้สึกได้อย่างชัดเจนเมื่อยืนอยู่บริเวณปากถ้ำ
- ล่องแพผจญภัยที่บ้านสบก๋าย ชมธรรมชาติที่สวยงามและความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ ชมโขดหินที่มีลักษณะแตกแต่งกัน รวมถึงต้นไม้ใหญ่อายุกว่าพันปีที่โค่นล้มโดยธรรมชาติ โดยมีทั้งล่องแพไม้และแพยาง โดยแพไม้ไผ่จะงดล่องในช่วงฤดูฝน ส่วนแพยางสามารถล่องได้ตลอดทั้งปี
การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
- ประเพณีม้ง (กินวอ) คืองานประเพณีขึ้นปีใหม่ของขาวไทยภูเขาเผ่าม้ง จัดขึ้นระหว่างวันขึ้น 1-3 ค่ำเดือน 1 ซึ่งตรงกับเดือนมกราคมของทุกปี
- ชมวิถีชีวิตชาวเขาเผ่าม้ง บ้านม่อนเงาะ การละเล่นโยนลูกช่วง ลูกข่าง การปักผ้าชาวเขา การตำข้าวด้วยครกกระเดื่อง
- เยี่ยมบ้านอดีตชาวม้งที่ผมยาวที่สุดในโลก
- ชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนพื้นเมือง เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการทำเมี่ยงแบบดั้งเดิม ที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน ชมการเก็บใบเมี่ยง ใบชา และชิมยำใบเมี่ยงอาหารขึ้นชื่อของชุมชน
ของฝากของที่ระลึก
- ผลิตผลจากใบชา กาแฟ
- ผลผลิตจากกลุ่มแม่บ้าน เช่น น้ำพริกลาบรสเด็ด หมอนใบชาเพื่อสุขภาพ
- มีดและจอบ ที่แข็งแรงทนทาน จากฝีมือการตีอย่างประณีต
- งานหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่น ผ้าทอ ผ้าปักชาวเขาเผ่าม้ง
- ผลไม้ตามฤดูกาล เช่น อะโวกาโด ส้ม ลิ้นจี่ มะม่วง รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปผลไม้ต่างๆ
ที่พัก
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะบ้านพักให้บริการ สามารถรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 15 คน และมีเต็นท์บริการให้เช่ากับนักท่องเที่ยว และสามารถนำเต็นท์ไปกางเองได้
ร้านอาหาร
ภายในศูนย์ฯ ไม่มีร้านอาหารให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถหาซื้อได้ที่ตลาดแม่มาลัย หรือสั่งรายการล่วงหน้ากับกลุ่มแม่บ้าน เพื่อความสะดวกในการเตรียมวัตถุดิบประกอบอาหาร
เมนูแนะนำ
- ยำใบเมี่ยง
- ไส้อั่วดอกแค
- ฟักทองน้ำเชื่อมวนิลา
การเดินทาง
จากตัวเมืองเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 107 (เชียงใหม่-ฝาง) ประมาณ 37 กิโลเมตร ก่อนถึงตลาดแม่มาลัย-อ.ปาย ประมาณ 2-3 กิโลเมตร จะมีเส้นทางเลี่ยงเมืองตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1095 ไปประมาณ 12 กิโลเมตร จะมีทางแยกขวามือ (อยู่ตรงข้ามกับวัดสบเปิง) เข้าไปม่อนเงาะอีกประมาณ 17 กิโลเมตร (เส้นทางเดียวกับไปวัดผางาม)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
- ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ บ้านม่อนเงาะ หมู่ 5 ตำบลเมืองก๋าย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ 50150 โทร 053-318-308
- คุณสรพงษ์ ประธานกลุ่มวิจัยการท่องเที่ยวบ้านม่อนเงาะ โทร 085-724-6346
- คุณสุทัศน์ ไกด์ท้องถิ่นบ้านเหล่า โทร 081-022-7480
- เจ้าหน้าที่ติดต่อประสานงานศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อน โทร 084-742-7449
- กลุ่มล่องแพบ้านสบก๋าย โทร 053-315-037
• ที่มาของบ้านสบก๋าย
เนื่องจากหมู่บ้านนี้มีสายน้ำสองสายมาบรรจบกัน และกลับกลายเป็นลำน้ำแม่แตงต่อไป
• ที่มาของบ้านม่อนเงาะ
เกิดจากหินผาที่อยู่เรียงกันสามลูก ผาแรกคือผาลูก ผากลางที่มีลักษณะโดดเด่นที่สุดคือผาแม่ และผาถัดไปคือผาพ่อ ดังนั้น คำว่า “ม่อนเงาะ” จึงเพี้ยนมาจากคำว่า “โม่งโง๊ะ” ภาษาม้ง ที่แปลว่า แม่ นั่นเอง
• ม้งผมยาว
ชายชาวม้งส่วนใหญ่ในอดีตนิยมไว้ผมยาว พ่อเฒ่าฮู้ เส่งหล้า และ พ่อเฒ่ายี่ แซ่เฒ่า ก็เช่นกัน แต่ก่อนเมื่อตัดผมทิ้งก็เกิดอาการเจ็บป่วยไม่สบาย ผู้เฒ่าจึงไม่ตัดผมอีกเลยจนกระทั่งเสียชีวิต
พ่อเฒ่าฮู้ เส้งหล้า มีผมยาว 5 เมตร 15 เซนติเมตร
พ่อเฒ่ายี่ แซ่เฒ่า มีผมยาว 4 เมตร 30 เซนติเมตร
แหล่งข้อมูล www.thairoyalprojecttour.com