หน้าแรก38 ดอย 38 โครงการหลวงสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

สถานีเกษตรหลวงอ่างขางเป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า “ให้ช่วยเขา ช่วยตัวเอง” มีพระราชประสงค์ให้ชาวไทยภูเขาที่พักอาศัยอยู่ตามดอยต่างๆ ทางภาคเหนือเลิกปลูกฝิ่น และทำไร่เลื่อนลอย อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ป่าไม้ และต้นน้ำลำธารของประเทศถูกทำลาย จากเดิมที่เป็นดอยหัวโล้นแปรสภาพเป็นขุนเขาแห่งความอุดมสมบูรณ์ ด้วยการวิจัยและพัฒนา พันธุ์ไม้ผลกว่า 12 ชนิด ผักเมืองหนาวกว่า 60 ชนิด และดอกไม้เมืองหนาวกว่า 20 ชนิด

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง มีพื้นที่สำหรับวิจัย ทดสอบพันธุ์พืชเขตหนาวจำนวน 1,800 ไร่ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,400 เมตร มีหมูบ้านชาวเขาบริเวณรอบสถานีฯ เป็นเขตส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ รวม 9 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านขอบด้ง บ้านนอแล บ้านหลวง บ้านปางม้า บ้านป่าคา บ้านคุ้ม บ้านผาแดง บ้านถ้ำง๊อบ และบ้านสินชัย รวมประชากรประมาณ 3,215 คน เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าจีนยูนาน ไทใหญ่ มูเซอดำ และปะหล่อง สภาพภูมิอากาศเย็นสบายตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ย 17.7 องศา อุณหภูมิสูงสุด 32 องศา ในเดือนเมษายน และอุณหภูมิต่ำสุด -3 องศา ในเดือนมกราคม ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,075 มิลลิเมตรต่อปี

กิจกรรมการท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวเชิงเกษตร

  • สวนกลางแจ้ง บริเวณสโมสรอ่างขางมีสวนกลางแจ้งหลายสวนที่ตกแต่งด้วยพันธุ์ไม้แตกต่างกันตามความเหมาะสมของฤดูกาล ได้แก่ สวนแปดสิบ สวนดอยคำ สวนหอม สวนสมเด็จ และสวนกุหลาบอังกฤษ
  • โรงเรือนรวบรวมพันธุ์ผักเมืองหนาว จัดแสดงพันธุ์ผักเมืองหนาวชนิดต่างๆ ที่ปลูกในพื้นที่โครงการหลวง เช่น ผักกระกูลสลัดหลายชนิด ผักตระกูลกะหล่ำ ผักตระกูลมะเขือ ผักตระกูลถั่ว และผักตระกูลแครอท รวมทั้งยังมีผักแปลกใหม่หลายชนิด เช่น สวิสชาร์ด รูบาร์บ อาติโช๊ค และสมุนไพรต่างประเทศทั้งโรสแมรี่และลาเวนเดอร์
  • โรงเรือนรวบรวมพันธุ์กุหลาบตัดดอกสายพันธุ์จากประเทศเนเธอร์แลนด์กว่า 1 สายพันธุ์ ซึ่งมีสีสันสวยงามหลากหลายสีและบางชนิดมีกลิ่นหอม
  • โรงเรือนไม้ดอก เป็นการจัดแสดงไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวชนิดต่างๆ มากมาย เช่น บีโกเนีย รองเท้านารี พืชกินแมลง มุมน้ำตกในสวนสวย ซึ่งดอกดอกไม้ในสวนเหล่านี้จะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันออกดอกตลอดทั้งปี
  • แปลงไม้ผลเมืองหนาว แปลงทดลองปลูกไม้ผลชนิดต่างๆ ได้แก่ พีช บ๊วย พลับ สาลี่ พลัม กีวี่ฟรุ๊ต ราสพ์เบอรี่ บลูเบอรี่ สตรอเบอรี่ หยางเมย ฯลฯ
  • สวนบอนไซ ภายในสวนจัดแสดงต้นไม้ประเภทสาลี่ เมเปิ้ล สน ที่ปลูกแบบบอนไซ นอกจากนี้ยังมีโดมทรงหกเหลี่ยมจัดแสดงพันธุ์พืชภูเขาเขตร้อนและดอกกล้วยไม้จิ๋วที่สุด ซึ่งจะออกดอกเดือนมกราคมของทุกปี มีเส้นทางเดินชมธรรมชาติตามสวนหินที่นักท่องเที่ยวจะได้ชมพันธุ์ไม้ป่าหลากชนิด และจุดชมวิวที่มองเห็นทัศนียภาพของสถานีฯ ได้ทั่วบริเวณ
  • พระตำหนักเรือนที่ประทับแรมและศาลาทรงงานเมื่อพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จยังสถานีฯ โดยทั่วบริเวณจะตกแต่งด้วยพันธุ์ไม้ป่าที่ให้เงาร่มรื่น และไม้ดอกเมืองหนาวต่างๆ โดยนักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมบริเวณด้านนอกของพระตำหนักได้
  •   จุดชิมชา เป็นสถานที่แปรรูปและการสาธิตวิธีชงชาให้นักท่องเที่ยวได้ชิมรส

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

  •   วิถีชีวิตของชาวเขาหมู่บ้านนอแล ตั้งอยู่บริเวณชายแดนไทย-พม่า เป็นชาวเขาเผ่าปะหล่องเชื้อสายพม่า มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง นับถือศาสนาพุทธ หากใครที่ชื่นชอบการถ่ายภาพชาวเขาจะไม่ผิดหวัง เพราะปะหล่องมีเครื่องแต่งกายที่มีสีสันสดประดับเงินและลูกปัด นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปขออนุญาตเจ้าของบ้านเพื่อเข้าชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างใกล้ชิดได้
  • วิถีชีวิตของชาวเขาหมู่บ้านขอบด้ง เป็นชาวเขามูเซอดำและมูเซอแดง นับถือผี มีวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย บริเวณหน้าหมู่บ้านจะมีการจำลองบ้านและวิถีชีวิตของชาวมูเซอ โดยชาวบ้าน ครู และนักเรียนโรงเรียนบ้านขอบด้งช่วยกันสร้างขึ้นมา และมีโครงการมัคคุเทศก์น้อยที่อบรมเด็กนักเรียนเพื่ออธิบายวิถีชีวิตของพวกเขาให้นักท่องเที่ยวทราบ
  • วิถีชีวิตของชาวเขาหมู่บ้านหลวง เป็นชาวจีนยูนานที่อพยพมาจากประเทศจีนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

  • เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ชมกุหลาบพันปี (Rhododendron) ห่างจากสถานีประมาณ 4.5 กิโลเมตร โดยจุดที่สูงที่สุดคือ เนินพันเก้า มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,928 เมตร ในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์จะมีกุหลาบพันปีออกดอกผลิบานตลอดทางเดิน
  • จุดชมวิวกิ่งลม สามารถชมทะเลหมอกและวิวพระอาทิตย์ทั้งขึ้นและตก มองเห็นทิวเขารอบด้านและหากท้องฟ้าเปิดจะมองเห็นสถานีเกษตรหลวงอ่างขางด้วย
  • จุดชมวิวหมู่บ้านนอแล นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นทิวทัศน์ความสวยงามของธรรมชาติบริเวณชายแดนไทย-พม่า โดยสัมผัสกับแสงแรกแห่งอรุณ และตะวันลับขอบฟ้าที่สวยงามได้
  • จุดชมวิวชายแดนไทย-พม่า ตั้งอยู่ ณ ฐานปฏิบัติการทหารบ้านนอแล ซึ่งเป็นบริเวณที่สามารถมองเห็นทัศนียภาพของฝั่งประเทศพม่า
  • กิจกรรมชมหิ่งห้อย ในยามค่ำคืนนักท่องเที่ยวจะเห็นแสงระยิบระยับของหิ่งห้อยเป็นจำนวนมาก ที่แปลงพีชฝั่งตรงข้ามสวนบอนไซจนถึงบริเวณลานจอดเฮลิคอบเตอร์ โดยสามารถชมได้ในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี
  • ขี่จักรยานชมธรรมชาติที่สวยงามของแปลงเกษตรภายในสถานีฯ ในช่วงฤดูหนาว ช่วยเพิ่มความสนุกสนานน่าตื่นเต้นในการเที่ยวชม
  • ขี่ฬ่อชมธรรมชาติ สถานีฯ มีการจัดกลุ่มชาวบ้านนำฬ่อมาให้บริหารแก่นักท่องเที่ยวได้ขี่ชมสถานที่บริเวณแปลงต่างๆ ฬ่อเป็นสัตว์ลูกผสมระหว่างม้าและลา ผู้สนใจสามารถติดต่อเช่าขี่ฬ่อได้ที่สถานีฯ
  • ดูนก ดอยอ่างขางเป็นสถานที่ดูนกที่มีนกหลากหลายสายพันธุ์โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวที่จะมีนกอพยพหาดูยากมาที่สถานีฯ รวมถึงพื้นที่บริเวณใกล้เคียง ซึ่งชมรม “ฅนรักษ์นกอ่างขาง” โดยสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง มีข้อมูลไว้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจดูนก

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง (2) สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง (3) สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง (1)

ของฝากของที่ระลึก

  • ผลิตภัณฑ์ใต้สัญลักษณ์ “ดอยคำ” มีทั้งสินค้าแปรรูป ผักสด ผลไม้ปลอดสารพิษ ไม้ดอกเมืองหนาวตามฤดูกาล
  • งานหัตถกรรมผ้าทอหมู่บ้านนอแล เช่น  ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล ย่าม ฯลฯ
  • หัตถกรรมพื้นบ้านหมู่บ้านขอบด้ง เช่น อิบูแค กำไลถักด้วยหญ้านำมาย้อมสีและสานลวดลายของมูเซอ

ที่พัก

  • บ้านพักรับรองภายในสถานีฯ หลายหลังไว้ให้บริการ ได้แก่ บ้าน AK 1-20 พักได้หลังละ 2 คน บ้านริมดอย 1-6 พักได้หลังละ 6 คน บ้ายพัก AK ใหญ่พักได้ 47 คน และอาคารหอประชุม สอบถามข้อมูล โทร. 053-969476-78 ต่อ 113 หรือ 114 เว็บไซต์ www.angkhangstation.com
  •   ลานกางเต็นท์จุดชมวิวกิ่วลมภายใต้การดูแลของ อบต.
  • ลานกางเต็นท์ฐานทหารบ้านนอแล
  • ลานกางเต็นท์ป่าสน
  • รีสอร์ทธรรมชาติอ่างขาง
  • อ่างขางวิลล่า
  •   บ้านพักเล่าติง

ร้านอาหาร

ภายในสถานีฯ มีบริการที่สโมสรอ่างขาง นอกจากนี้บริเวณด้านหน้ายังมีร้านอาหารและร้านขายของที่ระลึกอีกเป็นจำนวนมาก

การเดินทาง

เส้นทางที่ 1 จากตัวเมืองเชียงใหม่ ไปตามทางหลวงหมายเลข 107 เชียงใหม่-ฝาง ผ่านอำเภอแม่ริม แม่แตง เชียงดาว ไชยปราการ ถึงกิโลเมตรที่ 137 เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1249 ขึ้นไปอีก 25 กิโลเมตร ถึงดอยอ่างขาง เส้นทางชันและคดเคี้ยว
เส้นทางที่ 2 จากตัวเมืองเชียงใหม่ ไปตามทางหลวงหมายเลข 107 ถึงตำบลเมืองงาย เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1178 ผ่านบ้านอรุโณทัยไปยังดอยอ่างขาง ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง
การเดินทางสามารถใช้รถยนต์ได้ทุกประเภท หรือใช้บริการรถยนต์รับจ้าง จุดจอด ณ ปากทางขึ้นดอยอ่างขาง ราคาเหมาประมาณ 1,000-1,500 บาท

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง บ้านคุ้ม เลขที่ 1 หมู่ที่ 5 ถนนแม่งอน-อ่างขาง ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ 50320 โทร. 053-969-476-78 ต่อ 0 หรือ 110
ศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยว 053-969-489
เว็บไซต์ www.angkhangstation.com

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโครงการหลวงขึ้น เพราะมีพระราชประสงค์ให้หาพืชอื่นปลูกทดแทนฝิ่นและพืชนั้นๆ ต้องทำรายได้แก่เกษตรกรชาวดีกว่ายาเสพติด เมื่อทำได้สำเร็จชาวเขาก็จะไม่เร่ร่อนทำไร่เลื่อนลอย ตัดไม้ทำลายป่าอย่างที่เคยทำ
พืชที่ทรงเห็นว่าน่าจะทำรายได้ดีกว่าฝิ่นก็คือผลไม้เมืองหนาว เพราะม้งใกล้พระตำหนักภูพิงค์ฯ กราบบังคมทูลว่า “ท้อพันธุ์เมืองลูกเล็กเก็บขายได้เงินเท่าฝิ่นแล้ว” จึงมีรับสั่งให้ตั้งโครงการหลวงขึ้น แล้วทำให้ท้อขนาดเล็กกลายเป็นลูกพีชขนาดใหญ่ โดยเอากิ่งของฝรั่งมาติด นอกจากนี้ควรหาพืชเมืองหนาวอย่างอื่น มาลองด้วย เพราะถ้าทำสำเร็จจะขายได้ราคาดีในเขตร้อน

แหล่งข้อมูล www.thairoyalprojecttour.com


ติดต่อเช่ารถพร้อมคนขับ/ซื้อสินค้า/โฆษณาข่าวสาร
Add friend ที่ @topcm
เพิ่มเพื่อน
บทความก่อนหน้านี้
บทความถัดไป
บทความที่เกี่ยวข้อง
- Advertisment -