‘ตกขาว’ สารคัดหลั่งที่ถูกขับออกมาจากทางช่องคลอด เป็นสิ่งที่ผู้หญิงทั่วโลกคุ้นเคย ซึ่งตกขาวปกติจะเป็นสีขาวหรือสีใส แต่หากตกขาวมีสีผิดปกติ เช่น สีเขียว สีเทา สีแดง อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายภายในของคุณผู้หญิงอาจมีอาการผิดปกติบางอย่าง วันนี้เราจะไปดูกันว่าตกขาวเป็นสีเขียวเกิดจากอะไร แล้วจะมีวิธีการรักษาอย่างไรได้บ้าง

หน้าที่ของตกขาวที่หลายคนไม่เคยรู้
ก่อนจะไปรู้จักสาเหตุ อาการ และวิธีการรักษาหากพบตกขาวเป็นสีเขียว เรามาดูกันก่อนดีกว่าว่าตกขาวปกติที่เป็นสีขาวหรือสีใสคล้ายไข่ขาว ไม่มีกลิ่น และไม่ก่อให้เกิดอาการคันนั้น แท้จริงแล้วมีหน้าที่อะไรบ้าง โดยตกขาวซึ่งเป็นสารคัดหลั่งที่ถูกขับออกทางช่องคลอดของคุณผู้หญิงนั้น มีหน้าที่หลักคือช่วยในการหล่อลื่น ป้องกันการติดเชื้อและระคายเคืองช่องคลอด
ตกขาวเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิงในวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งในแต่ละช่วงเวลาของรอบเดือนนั้น ตกขาวก็จะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป แต่หากตกขาวมีสีที่เปลี่ยนไป มีกลิ่นเหม็นผิดปกติ หรือรู้สึกคันหรือระคายเคืองช่องคลอด ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติและรับการรักษาอย่างทันท่วงที จะปลอดภัยที่สุด
ส่องสาเหตุที่ทำให้ตกขาวเป็นสีเขียว
ภาวะตกขาวเป็นสีเขียวนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งการติดเชื้อแบคทีเรียและการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจมีอาการตกขาวเป็นก้อนหรือมีกลิ่นร่วมด้วย และนี่คือตัวอย่างของสาเหตุที่ทำให้ตกขาวเปลี่ยนเป็นสีเขียวที่เรานำมาฝากกัน
- ติดเชื้อทริโคโมแนส (TRICHOMONIASIS)
เป็นการติดเชื้อจากเชื้อโปรโตซัว TRICHOMONAS VAGINALIS (TV) ที่มักติดจากการมีเพศสัมพันธ์ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าโรคพยาธิในช่องคลอด ทำให้ตกขาวมีสีเขียว เป็นฟอง และมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ บางคนอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย ได้แก่ แสบร้อนและคันบริเวณปากช่องคลอด ปัสสาวะแสบขัด รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ปากช่องคลอดและช่องคลอดบวมแดง ซึ่งแพทย์จะทำการรักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะอย่าง Metronidazole หรือ Tinidazole และให้การรักษาคู่นอนร่วมด้วย
- ติดเชื้อหนองใน
โรคหนองในเป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย มีอาการชัดเจน นอกจากตกขาวจะมีสีเขียวแล้ว ตกขาวอาจมีปริมาณมากขึ้น รู้สึกปวดท้องน้อย แสบขัดขณะปัสสาวะ และมีเลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือน หากตรวจพบว่าเป็นโรคหนองใน ควรได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างเร็วที่สุด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยแพทย์จะจ่ายยาปฏิชีวนะตามความเหมาะสม และมักรักษาโรคติดเชื้อคลาไมเดียร่วมด้วย เพราะมีโอกาสพบร่วมกันได้ถึง 30%
หากสาว ๆ คนไหนมีอาการตกขาวเป็นสีเขียวหรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ แนะนำให้รีบพบแพทย์เพื่อจะได้ตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาอย่างทันท่วงที ก่อนจะลุกลามจนเป็นปัญหาสุขภาพเรื้อรังในอนาคต