วัดแสนฝางอยู่ติดแยกยุโรป (แยกขับสวนทางซ้าย)
วัดแสนฝาง หรือวัดแสนฝั่ง ขึ้นชื่อว่าเป็น ชเวดากองแห่งเมือง เชียงใหม่ สร้างขึ้นในสมัยพญาแสนภู (กษัตริย์องค์ที่ 3) แห่งราชวังศ์มังราย เมื่อราวปี พ.ศ.2119 วัดแสนฝางอยู่ติดกับถนนท่าแพ แต่หากไม่สังเกตุให้ดีอาจจะไม่ทราบ เพราะถูกล้อมรอบด้วยกำแพงที่ค่อนข้างสูง บนถนนท่าแพเส้นนี้เป็นลักษณะสัญจรทางเดียวโดยมุ่งหน้าไปทางประตูท่าแพ เป็นถนนที่มีชื่อเสียงมีวัดตั้งเรียงรายอยู่ตลอดสองฟากฝั่ง ซึ่งล้วนแล้วแต่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมงดงาม ดึงดูดให้ผู้สัญจรไปมาทั้งชาวไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ มาเยี่ยมชมกันอย่างต่อเนื่องทุกๆ วัน
ที่มาที่ไปของชื่อ วัดแสนงฝาง ก็คือ คำว่า “แสน” มาจากพระนามของพญาแสนภู ส่วนคำว่า “ฝัง” มาจากพระราชศรัทธาตามแบบบรรพกษัตริย์ ในอดีตพระเจ้าแสนภูมีพระราชประสงค์จะฝากฝังพระราชทรัพย์ของพระองค์ไว้กับพุทธศาสนา อีกทั้งพระองค์ยังมีพระราชดำริที่จะฝังพระราชทรัพย์เหล่านั้นไว้ในที่รกร้างว่างเปล่าใกล้ๆ แม่น้ำเล็ก
สิ่งที่น่าชมภายในวัด ได้แก่
พระเจดีย์มงคลแสนมหาชัย ที่ิวิจิตรงดงาม มีลักษณะคล้ายกับเจดีย์ชเวดากองพม่า และพระวิหารลายคำ ซึ่งเป็นที่ประทับเก่าของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์
พระอุโบสถ สร้างโดยพระราชศรัทธาของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ตัวอาคารเป็นตึกสองชั้นแบบร่วมสมัย ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา ชายคาประดับด้วยไม้ฉลุแบบขนม ปังขิง ส่วนชั้นบนเป็นโครงสร้างไม้ลวดลายวิจิตร ด้านข้างประดับรูปดาว สันหลังคาประดับรูปกินรี
พระวิหารลายคำ เป็นวิหารที่พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ (ราชวงศ์พระเจ้าเจ็ดตน) องค์ที่ 7 และเจ้าทิพเกสรราชเทวี (พระราชบิดาและพระราชมารดาในพระราชชายาเจ้าดารารัศมี) โปรดให้รื้อพระตำหนักของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 6 ลง แล้วนำมาถวายวัดเมื่อ พ.ศ. 2420 โดยให้ปรับปรุงดัดแปลงสร้างเป็นวิหารปิดทองล่องชาดทั้งหลัง เมื่อแล้วเสร็จจึงโปรดให้ฉลองสมโภชพระวิหารในปี พ.ศ. 2421 วิหารหลังนี้สร้างด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนา หลังคาเตี้ย และลาดต่ำ ประดับด้วยลวดลายไม้แกะสลัก และปูนปั้นปิดทอง หน้าบันตกแต่งด้วยไม้แกะสลักลายก้านขด และสัตว์หิมพานต์ขนาดความยาว 49 เมตร กว้าง 12 เมตร
นอกจากวิหาร เจดีย์ และพระอุโบสถที่งดงามแล้ว ยังมีสถาปัตยกรรมอื่นให้ชมอีก เช่น กุฏิ 100 ปี โยนการพิจิตร ที่หน้าต่างทำซุ้มปูนปั้นแบบตะวันตก หอไตรเก่าแก่ และหอเวรยามที่ใช้รักษาความปลอดภัยเมื่อครั้งโบราณ
นับว่าวัดนี้เป็นวัดที่ผสมผสานศิลปะแบบต่างๆ ทั้ง พม่า ล้านนา และแบบตะวันตกได้อย่างลงตัว ควรค่าแก่การมาเที่ยวชมเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะอิ่มใจเมื่อได้ทำบุญแล้ว ยังได้ตื่นตากับความงดงามของสถาปัตยกรรมภายในวัดแห่งนี้ด้วย
ที่ตั้งวัดแสนฝาง
วัดแสนฝาง ตั้งอยู่ที่ ถนนท่าแพ ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ หากมาทางสะพานนวรัฐก็มุ่งหน้าสู่ประตูท่าแพ วัดแสนฝางจะอยู่ติดถนนด้านขวามือ ตรงแยกที่จะไปกาดหลวง
เปิดทุกวัน เวลา 06.00-18.00น.
สอบถามข้อมูลโทร.053-234393