วัดเชียงยืน เป็นวัดที่มีชื่อเสียง และเป็นวัดสำคัญ ที่จัดว่ามีมงคลนาม 1ใน15 จากวัดที่มีมากมายในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ตั้งของวัดเชียงยืนอยู่ใกล้กับแจ่งศรีภูมิ ปัจจุบันทางเข้าวัดเชียงยืนจะมี 2 ด้านคือ ด้านที่ติดกับถนนคูเมืองด้านนอก อีกด้านหนึ่งจะเป็นทางเข้าด้านโรงเรียนวัดเชียงยืน เดี๋ยวเราจะเดินเข้าวัดเชียงยืนโดยเข้าทางด้านหน้าโรงเรียนวัดเชียงยืน
ที่ชื่อ วัดเชียงยืน มีความหมายอันเป็นมงคลสื่อความหมายถึงชีวิตที่ยืนยาว ชาวบ้านใกล้เคียง และคนเมืองที่มีความเชื่อเรื่องนี้จึงนิยมไปกราบไหว้พระ และทำบุญเพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิตเสมอ
ประวัติโดยย่อ
วัดเชียงยืนสร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏแน่ชัด ในสมัยโบราณวัดนี้มีความสำคัญมาก จากคัมภีร์มหาทักษา พบว่า การสร้างเมืองเชียงใหม่จะมีวัดประจำทิศทั้งแปดที่สอดคล้องกับระบบความเชื่อคือ ด้านทิศอุดรนี้ถือว่าเป็นเดชเมืองที่วัดเชียงยืนเป็นสำคัญ ท้าวพระยามหากษัตริย์ที่จะมาครองเมืองเชียงใหม่ หรือในยามสงครามที่จะออกรบราข้าศึก และนำทัพกลับมาแล้ว จะต้องมาเปลี่ยนเครื่องฉลองพระองค์และทำพิธีสักการบูชาพระประธานในพระวิหารนามว่า “พระสัพพัญญูเจ้า” ก่อนจะเข้าเวียงเพื่อสิริมงคลนามว่า “เชียงยืน”
“เชียงยืน” อันหมายถึงความยั่งยืน วัดนี้มีชื่อเรียกในพงศาวดารโยนกว่า วัด “ฑีฆชีวะวัสสาราม” เป็นวัดนามมงคลของนครเชียงใหม่ และเป็นวัดหลวงในสมัยอาณาจักรล้านนา และในอดีตเคยเป็นที่ประทับของพระสังฆราชสังฆนายก ในปัจจุบันผู้ว่าราชการจังหวัดที่มารับตำแหน่งหรือข้าราชการ ประชาชนทั่วไปก็ถือปฏิบัติเป็นประเพณีสืบมา มาในสมัยพระเมืองแก้วได้บรรจุพระบรมธาตุในสถูปเจดีย์ ต่อมาเมืองเชียงใหม่ถูกยึดครอง วัดเชียงยืนกลายเป็นวัดร้าง ครั้นมาสมัยพระยาวิชระปราการ (กาวิละ) ได้ขับไล่พม่าและได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์เมื่อปีพ.ศ.๒๓๓๗
สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดเชียงยืน
พระวิหาร เป็นพระวิหารทรงล้านนา ภายในประดิษฐาน พระประธานปางมารวิชัย นามว่า พระพุทธสัพพัญญู ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะ ของเจ้าผู้ครองเมืองและประชาชนมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
พระสัพพัญญูเจ้า ประดิษฐานภายใน วิหาร วัดเชียงยืน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิราบวัสดุปูนปั้นปิดทองขนาดหน้าตัก กว้าง 3.40 เมตร ศิลปกรรมสมัยเชียงแสน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 21 ผู้มาสักการบูชาจะได้รับ ความเป็นสิริมงคล เจริญยั่งยืน ด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ เดชอำนาจ โชคลาภ
พระบรมธาตุเจดีย์ วัดเชียงยืน เป็นเจดีย์ระฆัง ต่อมารูปแบบได้เปลี่ยนไปตามการบูรณะ โดยเฉพาะส่วนฐานที่ขยายใหญ่มาก ซึ่งคล้ายศิลปกรรมแบบพม่ารุ่นหลัง ลักษณะเจดีย์รูปทรงแปดเหลี่ยมอันสื่อความหมายถึง เดชบารมีแผ่ไปในทิศทั้งแปด ซึ่งเป็นผลงานที่บรรพบุรุษได้สร้างขึ้นมาด้วยการเสียสละทรัพย์ เวลา แรงงานและความสามารถทางศิลปะอย่างสูงสุด อุทิศทุ่มเทด้วยพลังแห่งความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแรงกล้า ด้วยเหตุที่ว่า การทำบุญด้วยการสร้างสิ่งใหญ่โตเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุนั้น เป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่ เพราะพระบรมธาตุเจดีย์เป็นที่สักการะหรือเป็นปูชนียวัตถุ สัญลักษณ์แห่งธงชัยของพระพุทธศาสนา ถือเป็นศูนย์รวมความเลื่อมใสศรัทธาที่นำความปีติโสมนัสมาสู่ชีวิตผู้ที่ได้ก่อร่างสร้างองค์พระบรมธาตุเจดีย์ในการบรรพบุรุษ รวมถึงผู้ที่มีจิตศรัทธาทำนุบำรุงส่งเสริมในกาลปัจจุบันนี้ ย่อมได้ชื่อว่าผู้มีส่วนแห่งบุญอันเป็นมงคลสูงสุดในชีวิต
ประวัติพระบรมธาตุเจดีย์ วัดเชียงยืน มีปรากฏจารึกในประวัติศาสตร์โบราณคดีตำนานชินกาลบาลีปกรณ์ ได้กล่าวถึง รัชกาลพระเจ้าปนัดดาธิราช หรือพระเมืองแก้ว กษัตริย์ล้านนา รัชกาลที่ ๑๓ แห่งราชวงศ์มังรายว่า พระองค์พร้อมด้วยพระเทวีราชมารดา ทรงกระทำการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุบรรจุพระสถูปเจดีย์ใหญ่วัดฑีฆชีววัสสาราม (ฑีฆายวิสาราม) เมื่อวันพุธ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะโรง จุลศักราช ๘๘๒ (พ.ศ.๒๐๖๑) และในวันอาทิตย์ ขึ้น ๓ ค่ำเดือน ๘ เวลาเที่ยง ได้โปรดให้จัดงานยกฉัตรพระมหาธาตุเจดีย์
อุโบสถ 8 เหลี่ยม เป็นสถาปัตยกรรมแบบพม่าที่งดงามและสมควรที่จะอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างยิ่ง นับเป็นอาราม ที่อยู่คู่เมืองเชียงใหม่มายาวนาน ที่สาธุชนเคารพศรัทธาองค์พระสัพพัญญูเจ้าวัดเชียงยืนฝังรากลึกกันอย่างแน่นแฟ้น
หลวงพ่อทันใจ ที่ประดิษฐานอยู่ทางเข้าหน้าวัดเชียงยืนองค์ที่ยกพื้นสูงประมาณ 8-9 เมตร แต่มีทางเดินขึ้น-ลง
คาถาบูชาดวงชะตา (พระเจ้าทันใจ) นะโมเม สัพพะพุทธานัง สัพพัคคะสา จะ เทวะตา สุริโย จันโท ภูมโม พุโก ครุสุกโก ปะมุณจะสิโสโร ราหู จะ เกตุ จะ สัพพะลาภัง ภะวันตุเมฯ พุทโธ ธัมโม สังโฆ จาติเสฏฐะตัง ระตะนัตตะยัง เอตัสสะ อานุภาเวนะ สัพพะลาภา ภะวันตุเมฯ สัพพะทุกขา วินัสสันตุ สัพพะภะยา วินัสสันตุ สัพพะโรคา วินัสสันตุ สัพพะลาภา ภะวันตุเมฯ
ซุ้มประตูหน้าพระอุโบสถ ประดับด้วยปูนปั้นศิลปะพม่า
ที่ตั้งวัดเชียงยืน
วัดเชียงยืน ตั้งอยู่ เลขที่ 160 ถนนมณีนพรัตน์ ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่