ท็อปเชียงใหม่ พาไปวัดสักการะโบราณสถานที่เก่าแก่และมีความสำคัญทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทย สถานที่เคยมีการประชุมสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๘ ของโลก ที่วัดเจ็ดยอด ซึ่งเป็นวัดพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ เป็นวัดประจำปีคนเกิดปีมะเส็ง หรือ ปีงูเล็ก ซึ่งตามความเชื่อของชาวล้านนา พระธาตุประจำปีเกิดปีมะเส็งก็คือ “โพธิบัลลังก์ วิหารมหาโพธิเจดีย์” รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย แต่เนื่องจากสถานที่ประดิษฐานโพธิบัลลังก์อยู่ไกล จึงอนุโลมให้เป็นพระเจดีย์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ซึ่งก็คือ “พระเจดีย์เจ็ดยอด” หรือ “มหาเจดีย์พุทธคยา”
[box type=”note” align=”” class=”” width=””]มหาเจดีย์ พระเจ้าติโลกราชโปรดให้สีหโคตรเสนาบดี (หมื่นด้ามพร้าคต) เดินทางไปยังประเทศอินเดียเพื่อจำลองออกแบบรูปแบบเจดีย์และสัตตมหาสถานเจดีย์ ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธองค์โดยตรงมาทรงสร้าง ณ บริเวณวัดนี้โดยมีโพธิบัลลังก์เป็นศูนย์กลาง มหาเจดีย์นี้เป็นแบบสถาปัตยกรรมแปลกพิเศษไปจากแหล่งอื่น ฐานเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ล้อมรอบด้วยปูนปั้นเทพพนมและลวดลายดอกไม้ที่มีความสวยงามวิจิตรพิสดารยิ่งนัก[/box]
ฐานเจดีย์ประดับปูนปั้นรูปเทวดา … ด้านนอกพระเจดีย์ก็ประดับงานปูนปั้นรูปเทวดาทั้งนั่งขัดสมาธิและยืน ทรงเครื่องที่มีลวดลายต่างกันไปดูงามน่าชม
วัดเจ็ดยอดหรือ ชื่ออย่างเป็นทางการคือ “วัดโพธารามมหาวิหาร” เหตุที่ตั้งชื่อวัดก็มีที่มาว่า สมัยพระเจ้าสมเด็จติโลกราชได้ทรงสดับพระธรรมเทศนาจากสำนักพระภิกษุสีหล (ศรีลังกา) เรื่องอานิสงส์ปลูกต้นโพธิ์ พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ใคร่จะปลูกต้นโพธิ์ จึงโปรดฯ ให้แบ่งหน่อมหาโพธิ์เดิม ที่พระภิกษุสีหลนำมาจากศรีลังกาเอามาปลูกไว้ในอารามป่าแดงหลวงเชิงดอยสุเทพ เอามาปลูกขึ้นไว้ในวัดนี้ เพราะเหตุที่ปลูกมหาโพธิ์ในพระอารามนี้ จึงได้รับขนานนามว่า “วัดโพธาราม”หรือวัดโพธารามมหาวิหาร”
วัดเจ็ดยอด ได้ชื่อว่ามีเจดีย์รูปทรงแปลกที่สุด คือมียอดตั้งอยู่บนเรือนธาตุสี่เหลี่ยมถึงเจ็ดยอด เหมือนมหาโพธิเจดีย์พุทธคยาที่ประเทศอินเดีย จัดเป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย
วิหารมหาโพธิ์ พระวิหาร ๗๐๐ ปี สร้างโดยคุณแม่วรรณี ปัทมอดิศัย
ประวัติวัดเจ็ดยอด
วัดเจ็ดยอด (พระอารามหลวง) ตั้งอยู่ที่ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นอกกำแพงเมืองเชียงใหม่ออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีเนื้อที่เป็นบริเวณวัดในปัจจุบันประมาณ 37 ไร่ 3 งาน 61 ตารางวา ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของวัดอยู่ติดกับถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ซึ่งเป็นทางคมนาคมสำหรับผู้ที่ประสงค์จะเดินทางไปชมปูชนียวัตถุและโบราณสถานของวัดเจ็ดยอดได้สะดวก
ประวัติความเป็นมาของวัด
วัดเจ็ดยอด (พระอารามหลวง) เป็นวัดโบราณและมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์วัดหนึ่งของอาณาจักรล้านนาไทย กล่าวคือ เป็นวัดที่สมเด็จพระเจ้าติโลกราช รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์มังราย ทรงโปรดเกล้าให้สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. 1998 โปรดให้หมื่นด้ามพร้าคต หรือ สีหโคตรเสนาบดี เป็นนายช่างทำการก่อสร้าง ศาสนสถานและเสนาสนะขึ้นเป็นพระอาราม โปรดฯ ให้นิมนต์พระมหาเถระชื่อพระอุตตมปัญญา มาสถิตเป็นอธิบดีสงฆ์องค์แรกในพระอารามนี้ ที่ได้เทศนาแก่พระเจ้าสมเด็จติโลกราชจนเกิดให้ศรัทธา และเชื่อในเรื่องอานิสงส์ปลูกต้นโพธิ์ ในเวลาต่อมา
โบราณสถานที่สำคัญของวัด
1. ซุ้มประตูโขงทางเข้าวัด ศิลปกรรมของซุ้มประตูโข่งที่น่าสนใจและดูชม คือ ลวดลายปั้น ประดับตกแต่งกรอบวงโค้งและหางซุ้มที่เป็นส่วนประกอบซุ้มประตูสองข้าง
2. มหาวิหารเป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญยิ่งในวัดนี้ สมเด็จพระเจ้าติโลกราชโปรดให้ใช้เป็นสถานที่ประชุมพระมหาเถระทั่วราชอาณาจักรล้านนาไทย ในการทำสังคายนาพระไตรปิฎกนับเป็นอัฐมะสังคายนา ครั้งที่ 8 ของโลก มหาวิหารแห่งนี้ไดรับการสถาปนาขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2020
ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ทั่ววัดเจ็ดยอด
3. พระอุโบสถ หลังแรกของวัดเจ็ดยอดพระเมืองแก้วพระราชาธิบดีลำดับที่ 12 แห่งราชวงศ์มังรายทรงเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระเจ้าติโลกราช โปรดให้สร้างขึ้นตรงบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระศพพระเจ้ายอดเชียงราย พระราชบิดาของพระองค์ในวัดนี้ เมื่อ ปี พ.ศ. 2045 เป็นปีที่ 7 ในรัชกาลพระอุโบสถหลังนี้ทรงอุสภลักษณ์ กว้าง 32 ศอก กับ 1 คืบ ส่วนยาว 78 ศอก กับ 1 คืบ ที่ตั้งปาสาณนิมิตของพระอุโบสถ กว้าง 41 ศอก ยาว 116 ศอก
4. พระสถูปเจดีย์อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าติโลกราช พระยอดเชียง พระราชาธิบดีลำดับที่ 11 แห่งราชวงศ์มังรายเป็นพระนัดดาในสมเด็จพระเจ้าติโลกราช โปรดให้สถาปนาขึ้นเป็นพระราชอนุสาวรีย์ที่ประดิษฐานพระอัฐิพระราชอัยการ คือ พระเจ้าสิริธรรมจักรพรรดิติลภ หรือสมเด็จพระเจ้าติโลกราช เมื่อ พุทธศักราช 2031
5. สัตตมหาสถาน คือ สถานที่สำคัญเนื่องในพระพุทธประวัติ 7 แห่ง คือ
[tie_list type=”starlist”]
- ปฐมโพธิบัลลังก์ คือ สถานที่พระพุทธเจ้าทรงประทับนั่งขัดสมาธิ ณ ควงไม้ศรีมหาโพธิ์ด้านทิศตะวันออก ทรงตั้งวิริยาธิษฐานปฎิญาณพระองค์ว่า “ตราบใดที่ยังไม่บรรลุพระอนุตตระสัมมสัมโพธิญาณเพียงใด ก็จะไม่ลุกขึ้นเพียงนั้น แม้มังสะและโลหิตจะเหือดแห้งสูญสิ้นไป จะคงเหลืออยู่แต่หนังเส้นเอ็นก็ตามทีเถิด”
- อนิมิสเจดีย์ คือ สถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับยืนทอดพระเนตรปฐมโพธิบัลลังก์ที่พระองค์ได้ตรัสรู้ ณ ที่นั้น เป็นเวลา 7 วัน
- รัตนฆรเจดีย์ คือ สถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับนั่งทรงพิจารณาพระอภิธรรมปิฎก เป็นเวลา 7 วัน ภายหลังที่ตรัสรู้ภายในเรือนแก้วที่เทวดานิรมิตถวาย
- มุจจลินทเจดีย์ คือ สถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับเสวยวิมุตติสุขผลสมาบัติใต้ต้นจิกสระมุจจลินท์ ภายหลังตรัสรู้แล้ว เป็นเวลา 7 วัน
- รัตนจงกลมเจดีย์ คือ สถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จพุทธดำเนินจงกลมเป็นเวลา 7 วัน
- อชปาลนิโครธเจดีย์ คือ สถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับนั่งขัดสมาธิ ณ บัลลังก์ภายใต้ร่มอชปาลนิโครธ (ไม้ไทร) อันเป็นที่อาศัยของคนเลี้ยงแพะ และเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงชนะมาร
- ราชาตนเจดีย์ คือ สถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขสมาบัติ ณ ภายใต้ร่วมไม้ราชายนพฤกษ์ ทรงยื่นพระหัตถ์ขวารับผลสมอจากพระอินทร์ เป็นเวลา 7 วัน
รัตนจงกลมเจดีย์
รัตนฆรเจดีย์
[/tie_list]
6. หอไตร คือ สถานที่เก็บรักษาพระคัมภีร์พระไตรปิฎกในวัดเจ็ดยอด เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าติโลกราช ทรงคัดเลือกพระมหาเถระ ผู้เจนจัดในพระบาลีมาชำระอักษรไตรปิฎก ซึ่งเรียกว่า อัฐมสังคายนา ครั้งที่ 8 ของโลก ทรงอบรมสมโภช หอไตรแห่งนี้เป็นการใหญ่ เพื่อใช้เป็นที่เก็บพระไตรปิฎกฉบับที่ชำระแล้ว
การเดินทางไปวัดเจ็ดยอด
วัดเจ็ดยอด ตั้งอยู่ที่ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ หากมาจากตัวเมืองด้วยถนนห้วยแก้วเมื่อถึงสี่แยกรินคำ (ที่มีห้างเมญ่า) ให้เลี้ยวขวาไปทางถนนไฮเวย์ ไปไม่ไกลจะเจอไฟแดง ณ จุดนี้ให้เลี้ยวซ้ายตรงแยกนี้เลยครับ พอเลี้ยวปุ๊บชิดขวาเข้าวัดได้เลย