ท็อปเชียงใหม่พาไปเยี่ยมชมวัดป่าอาจารย์ตื้อ และกราบไหว้เจ้าอาวาสหลวงปู่สังข์ สังกิจโจ พระมหาเถราจารย์ที่มีฤทธิ์มากอีกองค์หนึ่งในอำเภอแม่แตง พระผู้เป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิต ผู้มีจิตใจเเจ่มใส หลวงปู่สังข์ท่านเป็นผู้เมตตากับทุกคนๆ ที่เข้าหาท่าน ภายนอกของท่านดูเคร่งขรึมและสำรวมแต่ท่านเป็นพระใจดี เจริญภาวนาทางจิตได้อย่างละเอียด กราบเเล้วจะรู้สึกสบายใจ อยากให้ทุกท่านที่ผ่านไปอำเภอแม่แตงได้ไปเยี่ยมท่านบ้าง ท่านรับโยมเวลา 9:00 – 13:00 และหลัง 17:00 ไปแล้วนะครับ
ภายในวัดป่าอาจารย์ตื้อก็มีอาณาเขตที่กว้างพอสมควร ใช้เวลาเดินชมอยู่นานเกือบ 1 ชั่วโมง เดินเล่น ดูสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัด ที่วัดแห่งนี้มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมสัก 80% ของพื้นที่เลยทีเดียว ผมกะด้วยสายตาเอง บางส่วนของพื้นถนนที่เดินมีมอสขึ้นเขียวสดใสเป็นทางยาว ภายในวัดดูสะอาดสะอ้าน และเงียบมากๆ
สถูปแสดงสถานที่ปรินิพานจำลอง เมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย และได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้เพื่อเป็นที่เคารพสักการะ โดยหลวงปู่สังข์
พระพุทธปรินิพานจำลอง จาก ณ สาลวโนทยาน กุสินารานคร ประเทศอินเดีย
ธัมเมกขสถูปจำลองสังเวชนียสถานแห่งการประกาศธรรม
พุทธศาสนาได้ประดิษฐานขึ้นในโลก นับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 2500 ปีมาแล้ว เมื่อย้อนไปครั้งอดีตกาลในวันขึ้น 15ค่ำ เดือน 8 พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงปฐมเทศนา ‘ธัมมจักรกัปปวัตนสูตร’ แก่ปัญจวัคคีย์ ทั้ง 5 คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี จนกระทั่งท่านอัญญาโกญฑัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ ได้บรรลุโสดาบัน และทูลขอบวชกับพระพุทธองค์ นับเป็นพระอริยสาวกรูปแรก และเป็นวันที่พระรัตนตรัยครบองค์สาม คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เราเรียกวันนี้ว่า ‘วันอาสาฬหบูชา’
พื้นที่บางส่วนมีมอสสีเขียวสวยดีครับ
ประวัติหลวงปู่สังข์ สงฺกิจฺโจ
( พ.ศ. 2473 – ปัจจุบัน ) วัดป่าอาจารย์ตื้อ จังหวัดเชียงใหม่นามเดิม สังข์ คะลีล้วน
เกิด วันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2473 ซึ่งตรงกับวันพุธ ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 11
บ้านเกิด บ้านข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
บรรพชา อายุ 18 ปี ณ พัทธสีมา วัดศรีเทพประดิษฐาราม โดยมีพระสารภาณมุนี
(จันทร์ เขมิโย) เป็นพระอุปัชฌาย์ (ต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระเทพสิทธาจารย์)
อุปสมบท พ.ศ.2493 อายุ 20 ปีบริบูรณ์ ณ พัทธสีมาวัดป่าบ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม โดยมีพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก เป็นพระอุปัชฌาย์ พระทัต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์บุญส่ง โสปโก เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ท่านจบประถมปีที่ 4 ซึ่งถือว่าสูงสุดในสมัยนั้น เมื่ออายุได้ 18 ปี บรรพชาเสร็จก็กลับมาพรรษาที่วัดอรัญญวิเวกบ้านข่า ซึ่งเป็นบ้านเกิด เมื่อครั้งเป็นสามเณร หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้มาพำนักที่วัดป่าบ้านหนองผือนาใน ท่านได้ติดตามพระอาจารย์บุญส่ง โสปโก ไปวัดป่าบ้านหนองผือ ในวันนั้น ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์(จูม พนธุโล) ได้มากราบหลวงปู่มั่นเช่นกัน จึงได้เข้าไปรับฟังพระธรรมเทศนาจากหลวงปู่มั่น โดยมีท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์เป็นประธานนำเข้าไป ครั้นได้ฟังแล้วก็ยังไม่ค่อยเข้าใจเพราะยังเป็นเด็กอยู่ ท่านเป็นสามเณรอยู่สามปี สอบนักธรรมชั้นตรี-โท ได้จากสนามสอบวัดศรีชมชื่น ซึ่งเป็นวัดบ้าน เพราะยุคนั้นสนามสอบของคณะธรรมยุตยังไม่มี
ติดตาม หาหลวงปู่ตื้อ
หลวงปู่สังข์ได้ออกติดตามหาหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ซึ่งมีศักดิ์เป็นญาติทางยาย คือ ปู่ของหลวงปู่ตื้อ เป็นพี่ชายของคุณยายของท่าน ตัวท่านได้ยินแต่กิตติศัพท์ของหลวงปู่ตื้อมานาน แต่ไม่เคยเห็นตัวจริงมาก่อนเลย จึงอยากจะออกติดตามหาหลวงปู่ตื้อ ขึ้นมาเชียงใหม่เป็นครั้งแรก โดยมีพี่ชายของหลวงปู่ตื้อ มีพระและญาติโยมตามมาด้วยซึ่งเมื่อถึงจังหวัดเชียงใหม่แล้วก็เข้าพักที่วัดเจดีย์หลวงก่อน ได้ยินว่าหลวงปู่ตื้อจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าดาราภิรมย์ จึงตามไปพบท่านที่วัดป่าดาราภิรมย์ เมื่อได้พบหลวงปู่ตื้อแล้ว ก็พักอยู่ที่วัดป่าดาราภิรมย์ระยะหนึ่งจึงเดินทางกลับบ้านเกิด
พ.ศ.2493 เมื่ออุปสมบทแล้วอยู่จำพรรษาที่วัดป่าบ้านสามผงกับองค์อุปัชฌาย์(พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก) เป็นเวลา 5 ปี ท่านสอบนักธรรมชั้นเอกได้ที่วัดป่าบ้านสามผง แล้วทำหน้าที่สอนนักธรรมช่วยพระอุปัชฌาย์ จากนั้นปี พ.ศ.2499 ท่านจึงออกเดินทางขึ้นเหนือเพื่อมาอยู่กับหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ที่วัดป่าดาราภิรมย์ จังหวัดเชียงใหม่ ที่วัดป่าดาราภิรมย์ ท่านได้พบกับพระอาจารย์กาวงค์ โอทาตวณฺโณ ซึ่งเป็นหลานของหลวงปู่ตื้อเช่นกัน และต่อมาได้รับสมณศักดิ์เป็ฯพระครูสังฆรักษ์กาวงค์ และเป็นเจ้าอาวาสต่อจากหลวงปู่ตื้อ ที่นี่ท่านได้เรียนบาลีไวยากรณ์กับพระมหามณี กิตฺติวณฺโม จนจบชั้นหนึ่งสอบได้แล้วจึงหยุดเรียน เพราะจิตใจใฝ่ในทางธุดงค์มากกว่า
เที่ยวธุดงค์
ในพรรษาแรกที่ท่านบรรพชาเป็นสามเณรอยู่วัดอรัญญวิเวกบ้านข่า หลังจากออกพรรษาแล้ว เคยไปกราบครูบาอาจารย์หลายรูป อาทิ หลวงปู่สีลา อิสฺสโร วัดป่าอิสสระธรรม บ้านว่าใหญ่, หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม วัดอุดมรัตนาราม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร เป็นต้น ซึ่งครูบาอาจารย์ได้ให้กำลังใจแก่หลวงปู่สังข์ให้อยู่ในสมณเพศนานๆ ท่านหลวงปู่สังข์ได้เที่ยวรุกขมูลกับพระอาจารย์บุญส่ง โสปโก ไปหลายที่ เช่น บึงโขงหลง แล้วไปภูลังกา พบพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร แล้วเที่ยวไปเรื่อยๆจนถึงอำเภอบึงกาฬ ตามทางที่หลวงปู่ตื้อเคยไป เมื่อได้เวลาเข้าพรรษาก็กลับมาจำพรรษาวัดอรัญญวิเวกตามเดิม เมื่อท่านอุปสมบทเป็นพระแล้วท่านได้ขึ้นมาจังหวัดเชียงใหม่ ท่านได้ออกวิเวกแถบจังหวัดเชียงราย โดยมีพระอาจารย์ไท ฐานุตฺตโม เป็นสหธรรมมิก เที่ยววิเวกไปด้วยกัน ได้พบพระอาจารย์มหาทองอินทร์ กุสลจิตฺโต ที่วัดถ้ำผาจรุย อ.ป่าแดด จ.เชียงราย
ในช่วงออกพรรษาหลวงปู่สังข์ท่านได้เที่ยวรุกขมูลทางภาคอีสานบ้าง บางพรรษาก็จำพรรษาที่วัดอรัญญวาสี อ.ท่าบ่อ สองครั้งๆละพรรษา ที่วัดอรัญวาสีนี้หลวงปู่ท่านได้พบกับหลวงปู่คำพอง ติสฺโส ซึ่งเวลานั้นยังเป็นพระหนุ่ม ท่านเจริญมนต์เก่งมาและเคยไปจำพรรษาที่วัดโคมคำ บ้านหมอ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย เวลาลงอุโบสถก็ไปลงกับหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ ครั้นออกพรรษาแล้วที่วัดหินหมากเป้งมีงานกฐิน หลวงปู่เทสก์ เทสฺรังสี ก็นิมนต์ท่านไปรับกฐินที่วัดด้วย บางพรรษาก็ไปจำพรรษาที่ประเทศลาว ซึ่งช่วงเวลานั้นยังอยู่ในการปกครองของฝรั่งเศส การเดินทางข้ามฟาก ต้องของอนุญาตจากทางการไทยและลาว ซึ่งสะดวกกว่าปัจจุบันมาก การเดินทางใช้เรือพายข้ามแม่น้ำโขงที่ท่าอำเภอศรีเชียงใหม่ไปขึ้นที่เวียงจันทน์ ไปพักที่วัดป่าสัก หัวสนามบิน เป็นเวลา 5 เดือน คือ ขออนุญาตไป 3 เดือน ออกพรรษาแล้ว ก็ดำเนินเรื่องขออยู่ต่ออีก 2 เดือน ระยะเวลาที่อยู่ประเทศลาว ท่านได้ไปเที่ยวดูวัดวาอารามต่างๆในเวียงจันทน์ ซึ่งยุคนั้นยังไม่ได้เป็นเมืองหลวงปของประเทศลาว เช่น วัดองค์ตื้อ วัดศรีสะเกตุ วัดพระแก้ว เป็นต้น
บางปีไปเที่ยวฝั่งลาวขึ้นเรือที่อำเภอบึงกาฬ ข้ามน้ำโขง ผ่านแก่งอาฮง น้ำไหลเชี่ยวน่ากลัวมาก บางปีท่านออกจากวัดอรัญญวิเวก เดินเท้าไปอำเภอพังโคน บริเวณรอยต่ออำเภอวานรนิวาสมีดงหนาทึบ มีลิงอยู่มาก เดินผ่านดงใหญ่ถึงอำเภอพังโคนเป็นทุ่งนา ไปอำเภอวาริชภูม อำเภอสว่างแดนดิน เช้าถึงจังหวัดอุดรธานี ไปพักอยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์ แล้วเดินทางต่อไปอำเภอบ้านผือ ไปภาวนาที่วัดพระพุทธบาทบัวบก ซึ่งแต่ก่อนหลวงปู่ตื้อเคยมาภาวนาที่นี่
บางปีท่านธุดงค์เที่ยวไปทางอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ไปไหว้พระธาตุพนม เดินผ่านป่าโคกที่กันดารแห้งแล้ง มีหินแหลมแทงเท้า จนเท้าท่านแตก ไปพบสองตายาย หาบของมาเต็มตะกร้าเหงื่ออาบท่วมตัว เมื่อเขาเห็นหลวงปู่เขาถามว่า “ครูบาทุกข์ขนาดก็ยังเดินอยู่บ่?” ท่านไม่ได้ตอบแต่อย่างใด ได้เพียงมองดูสองตายายแล้วนึกในใจ “โยมนี้ก็ทุกข์เหมือนกัน”
ในสถานที่ต่างๆ ที่ท่านไปนั่งภาวนา ก็จะรู้จักธรรมชาติ เผ่าพันธุ์มนุษย์ในถิ่นนั้นๆ เช่นท่านไปภาวนาที่เจดีย์ยุทธหัตถี ก็มีความรู้เกิดขึ้นมาเองว่าคนในถิ่นนี้มีความเป็นมาอย่างไร ท่านกล่าวว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์นั้นก็เหมือนกับต้นไม้ที่มีหลากหลายชนิดแต่อยู่ด้วยกันได้ หลวงปู่สังข์ท่านได้เที่ยวธุดงค์ไปหลายจังหวัด เกือบทุกภาคของประเทศไทย ทั้งภาคอีสาน เช่น จังหวัดสกลนคร อุดรธานี หนองคาย เลย เป็นต้น ภาคกลาง เช่น กาญจนบุรี ทุ่งใหญ่นเรศวร สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร กรุงเทพฯ เป็นต้น ภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง เป็นต้น
ประวัติวัดป่าอาจารย์ตื้อ
บริเวณวัดป่าอาจารย์ตื้อ เดิมเป็นที่ดินของนายหมื่น เกษม และนางสา มะลิวัลย์ นายเลิศ ประทุก และนายปลั่ง จันทรวัชร คณะศรัทธาญาติโยมได้เคยนิมนต์พระกรรมฐานหลายๆองค์ตามที่ต่างๆมาเพื่อพำนักอาศัย และจะได้โปรดคณะศรัทธาญาติโยมบ้านนี้ แต่พระที่นิมนต์มานั้นอยู่ได้ไม่นานก็จากไป และมีพระธุดงค์มาพักอยู่แล้วก็ไป เป็นอย่างนี้อยู่เรื่อยมาจนกระทั่งปี พ.ศ.2496 คณะศรัทธาญาติโยมได้นิมนต์ พระอาจารย์ตื้อ(หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม) มาพักที่นี่
ท่านพระอาจารย์ตื้อได้มาโปรดศรัทธาญาติโยมนี้ ตลอดเวลาที่ท่านมาอยู่ที่นี่ได้สร้างศาลาขึ้นหลังหนึ่ง เมื่อ พ.ศ.2510 เพื่อให้เป็นประโยชน์สมบัติสืบต่อไปในพระพุทธศาสนา พร้อมกันนี้ได้ริเริ่มตั้งที่ดินนี้ขึ้นเป็นสำนักสงฆ์ ตั้งชื่อว่า “สำนักสงฆ์สามัคคีธรรม” ในระยะที่ท่านพระอาจารย์ตื้อมาอยู่ที่สำนักสงฆ์แห่งนี้ ได้มีพระธุดงค์จรมาพักกับท่านเรื่อยๆ
ภาพเมื่อครั้งมีงานบุญในวัดป่าอาจารย์ตื้อ มีโรงทานและผู้คนมากมายร่วมงาน
หลวงปู่ตื้อ อจลธมโม ได้สร้างพระเจดีย์ขึ้นไว้หนึ่งองค์ ณ สำนักสงฆ์สามัคคีธรรม และทำการฉลองพระเจดีย์ในปี พ.ศ.2512 โดยมีพระเทพสารสุธี(ขัน ขนฺติโก) วัดเจดีย์หลวงมาเป็นประธาน
จนกระทั่งปี พ.ศ.2513 คณะศรัทธามีนายเลิศ ประทุมเป็นหัวหน้าได้ทำหนังสือขออนุญาตสร้างวัด ด้วยทางกรมการศาสนาและกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้พิจารณาเห็นว่าสมควรที่จะให้เป็นวัดได้ จึงอนุมัติให้สร้างวัดได้ เมื่อทางคณะศรัทธาญาติโยมได้รับหนังสืออนุมัติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นายเลิศ ประทุม ซึ่งเป็นหัวหน้าได้นำศรัทธาญาติโยมเริ่มทำการก่อสร้างกุฏิเพิ่มขึ้นเป็นการถาวร และได้ขอให้ตั้งชื่อวัดเป็นลำดับต่อไป
ในปี พ.ศ.2513 กรมการศาสนาได้มีหนังสืออนุญาตการเป็นวัดพร้อมทั้งออกชื่อวัดมาให้ด้วยว่า “วัดป่าอาจารย์ตื้อ” ซึ่งชื่อวัดนี้ท่านเจ้าคุณพระธรรมดิลก(พระพุทธพจนวราภรณ์ในปัจจุบัน) อดีตเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน-แม่ฮ่องสอน(ธ) ได้เสนอมาให้ทางคณะศรัทธาญาติโยมเลือกพร้อมกับชื่ออื่นๆ อีกหลายชื่อ แต่ทางคณะศรัทธาเห็นว่าชื่อนี้สมควรแล้ว จึงได้ใช้ชื่อว่า “วัดป่าอาจารย์ตื้อ” มาจนถึงทุกวันนี้ ต่อมาในปี พ.ศ.2524 ได้ขอแต่งตั้งเจ้าอาวาส โดยแต่งตั้งให้พระครูภาวนาภิรัต(หลวงปู่สังข์ สงฺกิจโจ) เป็นเจ้าอาวาสจนถึงปัจจุบันนี้ ในปี พ.ศ.2529 ได้ขอพระวิสุงคามสีมา และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2530
ที่อยู่: ถนน107 ตำบลสันมหาพน อำเภอแม่แตง จังหวัด จังหวัดเชียงใหม่
ขอขอบคุณขอมูลประวัติจาก อิทธิญาโน
การเดินทางไปวัดป่าอาจารย์ตื้อ
จากตัวเมืองเชียงใหม่มุ่งหน้าสู่อำเภอแม่แตงด้วยทางหลวง107 ขับไปจนถึงปากทางแยกเข้าเขื่อนแม่งัด ให้ยูเทรินกลับครับ (ไม่เลี้ยวขวาเข้าเขื่อน) พอกลับรถได้ประมาณ 100 เมตร จะเห็นทางเข้าวัดป่าอาจารย์ตื้ออยู่ซ้ายมือ
แผนที่วัดป่าอาจารย์ตื้อ >> https://goo.gl/maps/kmATYdYe7bCYNSfp9