วัดปราสาทนี้อาจจะเป็นวัดเล็กๆ อยู่ในเมืองเชียงใหม่ เป็นวัดขนาดไม่ใหญ่มากนัก แต่ก็ยังเป็นวัดที่นักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นและคนในท้องถิ่นมาแวะสักการะกันตลอด วัดปราสาทนี้อยู่ติดกับวัดพระสิงห์วรมหาวิหารเลยครับ จะมีแยกไฟแดงคั่นกันไว้ หากเที่ยววัดพระสิงห์วรมหาวิหาร แล้วก็มาชมสุดยอดศิลปะภายในวัดปราสาทกันด้วยนะครับ
นอกจากจะเข้าวัดปราสาทเพื่อมาทำบุญแล้ว ก็ยังเข้ามาเพื่อชื่นชมความงดงามชดช้อยของสถาปัตยกรรมตามแบบล้านนา ทั้งพระวิหารที่มีโครงสร้างแบบม้าต่างไหม จิตรกรรมฝาผนังลายคำที่สำคัญอันมิสามารถประเมินค่าได้
ประวัติความเป็นมา
นามของวัดที่เรียกตามสิ่งก่อสร้างภายในวัดว่า “วัดปราสาท” เช่นนี้ จะเป็นเครื่องชี้ลักษณะและประโยชน์ใช้สอยของสิ่งก่อสร้างในแบบฉบับหนึ่งของล้านนา ซึ่งเรียกตามความเข้าใจของคนในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
วิหารวัดปราสาทนี้เป็นศิลปกรรมท้องถิ่นที่ยังมิได้รับการซ่อมแซมดัดแปลง จึงยังคงมีคุณค่าด้านศิลปกรรมอยู่ สำหรับ “ปราสาท” เป็นลักษณะเฉพาะของล้านนา ถือเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญของวัด โดยเฉพาะผูที่มาสักการะจะทำพิธีอยู่ในวิหารที่มีส่วนเชื่อมอยู่ด้านหน้าของปราสาท ไม่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับสถานที่ไว้พระพุทธรูป
ตามหลักฐานที่ปรากฏในหลักศิลาจารึกของวัดตะโปธารามได้จารึกไว้ว่า วัดปราสาทมีมาตั้งแต่ครั้งที่อาณาจักรล้านนาเจริญรุ่งเรืองเมื่อปี พ.ศ. 2035 ในสมัยที่พระยายอดเชียงรายนั้นครองเมืองเชียงใหม่ ด้วยเหตุที่วัดนี้ตั้งอยู่ในเขตที่ประทับของเจ้านายและฝ่ายขุนนางทำให้ได้รับการทำนุบำรุงสืบต่อกันมา แม้กระทั่งในสมัยที่เชียงใหม่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่านั้น พระยาหลวงแสนคำก็ยังได้หล่อพระเจ้าหมื่นทอง พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัยถวายไว้ที่วัดปราสาทในปี พ.ศ 2133 และได้จารึกข้อความไว้ที่ฐานพระองค์นี้ด้วย
ในสมัย เจ้าหลวงธรรมลังกา เมื่อปี พ.ศ. 2366 ได้มีการบูรณะวัดปราสาท โดยโปรดฯ ให้ พระยาหลวงสามล้านสร้างพระวิหารขึ้น ซึ่งเป็นพระวิหารที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
วัดปราสาทมีความโดดเด่นและทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรม พระวิหารซึ่งมีลักษณะแบบล้านนาดั้งเดิมที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี มีโครงสร้างแบบม้าต่างไหม คือลักษณะหลังคาและไม้ขื่นคานมี่ลดหลั่นกันขึ้นไปเหมือนต่างบนหลังม้าสำหรับบรรทุกสิ่งของ มีบันไดนาคนำขึ้นสู่ตัวอาคารด้านหน้าวิหารมีลวดลายปูนปั้นประดับกระจกสีอย่างวิจิตร ภายในพระวิหารมีจิตรกรรมฝาผนังลายคำบนพื้นรักสีแดงอย่างล้านนา ว่าด้วยเรื่องพระพุทธประวัติ และซุ้มปราสาทที่ประดิษฐานพระประธานซึ่งหลงเหลืออยู่ไม่กี่แห่งในปัจจุบัน จึงนับว่าเป็นวัดที่สำคัญทางพุทธศาสนา ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกของคนรุ่นหลังสืบไป
ลักษณะความสำคัญและจุดเด่นของวัดปราสาท
สิ่งที่น่าสนใจของวัดปราสาทอยู่ที่พระวิหารซึ่งมีลักษณะศิลปะแบบล้านนาดั้งเดิม หน้าบันมีโครงสร้างแบบม้าต่างไหม คือลักษณะหลังคาและไม้ขื่นคานมี่ลดหลั่นกันขึ้นไปเหมือนต่างบนหลังม้าสำหรับบรรทุกสิ่งของ ด้านหน้าตัวพระวิหารมีบันไดนาคเป็นลวดลายปูนปั้นสวยงาม ภายในผนังพระวิหารมีภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปเกี่ยวกับพุทธศาสนา และพุทธประวัติ และจุดเด่นที่แตกต่างจากวัดอื่นๆ นอกเหนือไปจากโครงสร้างแบบม้าต่างไหม ก็คือ ด้านหลังพระวิหารมีซุ้มประตูปราสาทแบบล้านนา และซุ้มประตูโขงเชื่อเข้าสู่อาคารถัดไปที่มีลักษณะคล้ายกับเจดีย์ หรือกู่พระเจ้า ปัจจุบันไม่ค่อยพบเห็น เป็นที่ประดิษฐานพระประธานของพระวิหาร นอกจากวิหารไม้และปราสาทจระนำท้ายวิหาร แล้ว ภายในวัดยังมีอุโบสถและเจดีย์ขนาดเล็กอีกองค์หนึ่งอยู่ด้านหน้าวิหาร ซึ่งคงสร้างขึ้นภายหลัง แต่ ส่วนที่เป็นจุดเด่นของวัดคือกำแพงแก้วเตี้ย ๆ และ ลานวัดกว้างขวางที่ถมด้วยทรายช่วยเสริมให้วิหาร และจระนำท้ายวิหารโดดเด่นเป็นสง่า
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนด ขอบเขตวิหารวัดปราสาทในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 96 ตอนที่ 167 ลงวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2522
อ้างอิง
หนังสือ โครงการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานภาคเหนือ กรมศิลปากร
รายงานโครงการ การศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดการให้แสงสว่างโบราณสถานในตัวเมืองเชียงใหม่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
การเดินทางไปวัดปราสาท
วัดปราสาท ตั้งอยู่บนถนนอินทวโรรส ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง อยู่ติดกับวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ซึ่งมีเพียงแยกไฟแดงคั่นกันไว้เท่านั้นครับ
เปิดเวลา 06.00-18.00 น.
สอบถามโทร.053-217474