ทริปนี้ท็อปเชียงใหม่ พาแอ่วดอยปุยเชียงใหม่เจ้า…เรามาดูกันดีกว่า ว่าหลังจากสักการะบูชาพระธาตุวัดดอยสุเทพ หากขับรถขึ้นไปบนดอยอีก 6 กิโลเมตร จะมีอะไรให้ดูอีกมากมายเลยครับ
ดอยปุยไงครับ ดอยปุย ที่ผมจะพามาชมหมู่บ้านเก่าแก่แห่งนี้ เนื่องจากแต่เดิม(50 ปีโดยประมาณ) เราได้มีโอกาศนั่งพูดคุยกับผู้เฒ่าที่มีอายุมากที่สุดในหมูบ้าน ซึ่งผู้เฒ่าคนนี้เองก็เป็นลูกชายเพียงคนเดียวที่เหลืออยู่ของผู้ที่มีอายุมากที่สุดของหมู่บ้านถึง 100 ปีเลยทีเดียว ในสมัยนั้นดอยปุยได้มีการปลูกฝิ่นเป็นจำนวนมาก ยาเสพติดระบายอย่างรวดเร็วในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีรับสั่งให้ทางการเข้ามาดูแลเรื่องการปลูกฝิ่นของชาวบ้านในภาคเหนือ เพื่อให้ความรู้ทางการเกษตรของชาวบ้านเปลี่ยนจากการปลูกฝิ่นมาเป็นปลูกพืชผักสวนครัวขายแทน ตั้งแต่นั้นมาชาวม้งที่อยู่ดอยปุยก็หันมาเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ทุกอย่าง ผู้เฒ่าบอกว่าจากที่เคยสูบฝิ่นกันจำนวนมากในหมู่บ้าน(ในตอนนั้น) ก็หันมาทำมาหากินกับแบบพอเพียง ปลูกผักขายบ้าง เย็บรองเท้าขายบ้าง เย้บเสื้อผ้าขายบ้าง
ด้วยความที่ดอยปุยมีอากาศค่อนข้างเย็นทำให้พืชผลผลิตที่ออกมามีคุณภาพที่ค่อนข้างสูง จึงทำให้พ่อค้าคนกลางเดินทางมารับไปขายในเมือง จากนั้นเองดอยปุยก็มีการปรับเปลี่ยนให้เป็นในเชิงท่องเที่ยว ทำให้มีรายได้มากขึ้น ชาวม้งไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ก็มีรายได้มากขึ้น ทำให้การปลูกฝิ่นหายไปจนหมดสิ้น
นั่นเองก็เป็นที่มาของดอยปุย แต่ตอนนี้ดอยปุยได้กลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ไปแล้ว เพราะนักท่องเที่ยวทีมาสักการะดอยสุเทพก็มักจะขับรถมาเที่ยวดอยปุย เพราะหากขับมาดอยสุเทพแล้วก็ไม่ยากนักที่มาเที่ยวเลยจากดอยสุเทพมา10 กิโลเมตรโดยประมาณก็จะเจอชาวม้งที่เค้ามีเอกลักษณ์ของชนเผ่าเค้าเอง และที่นี่ก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้อีกบรรยากาศหนึ่งของเชียงใหม่ แต่ที่โดเด่นเป็นอย่างมากที่ทำให้ท็อปเชียงใหม่ ประทับใจเป็นอย่างมากก็คือ มัคคุเทศก์น้อย เราจึงเรียกเค้าเหล่านี้ว่า “มัคคุเทศก์น้อยแห่งดอยปุย”
รถของท็อปเชียงใหม่ กำลังขับลงจากเขาเข้าสู่หมู่บ้านชาวม้ง เราก็ได้เห็น “มัคคุเทศก์น้อย” วิ่งกันขวักไขว่ มาต้อนรับแขกที่มาเยือนหมู่บ้านชาวม้ง แล้วเราก็ได้เจอ “เจ้าเม่ง”และ”เจ้าป๋อ” สองมุคุเทศ ที่เป็นเพื่อนซี้กันมาหาที่รถแล้วถามเราว่า “พี่คะต้องการมัคคุเทศก์พาเที่ยวไหมคะ เราสองคนพาเที่ยวได้นะ” เราก็เลยถามไปว่า “ราคาเท่าไหร่ล่ะ” เจ้าสองคนก็ตอบมาว่า”แล้วแต่พี่จะให้ค่ะ” จากความน่ารักและคำพูดคำจาอ่อนหวานของเจ้าหนูสองคนนี้ จึงทำให้เราเลือกทีจะมี “มัคคุเทศก์น้อยแห่งดอยปุยนำเที่ยว”
จากการที่เราได้สอบถามสองมัคคุเทศก์นี้ จึงทำให้เราทราบถึงที่มาที่ไปของ “มัคคุเทศก์น้อยแห่งดอยปุย ” ว่า…..หากว่างเว้นจากเรียนหนังสือก็จะมาเป็นมัคคุเทศก์ที่หมู่บ้านของตน จากการที่นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากในแต่ละปี โดยพื้นเพของชาวเขาที่นี่เป็นชาวม้ง นักท่องเที่ยวที่เข้ามาก็มาเที่ยวแบบเชิงวัฒนธรรม คุณครูที่โรงเรียนหมู่บ้านชาวม้งจึงได้จัดตั้ง “ชมรมมัคคุเทศก์น้อย” ขึ้นมา เพื่อให้เด็กๆได้มีรายได้เสริม มัคคุเทศก์น้อยและคนจะมีบัตรห้อยที่คอแสดงถึงว่าเป็น “มัคคุเทศก์น้อยแห่งดอยปุย” โดยเด็กๆเหล่านี้จะพาทุกท่านเที่ยวชมวัฒนธรรมความเปนอยู่ของชาวม้ง ที่ได้จัดขึ้นอย่างเป็นระเบียบภายในพื้นที่หมู่บ้านชาวม้งของพวกเขา
เรามาเริ่มเดินเที่ยวกันเลยดีกว่าครับ…….เม่งและป๋อจะนำทางเราเดินชมกันครับ เริ่มแรกเราเดินขึ้นเนินไปก็จะเจอร้านขายชาและของหมักดองเช่นลูกท้อ ขายกันเยอะแยะไปหมด ร้านเครื่องเงิน พลอย เสื้อผ้าชาวม้ง และมีอยู่ร้านนึงที่ต้องตาเรามากก็คือรองเท้าครับ รองเท้าที่นี่คล้ายรองเท้าของจีนและที่สำคัญเค้าเย็บมือครับ แบบที่นี่ก็เก๋ไม่เบาและมีหลากหลายสีให้เลือกไม่ว่าจะเป็น สีแดง สีม่วง สีเหลือง มีแบบวัยรุ่นๆทั้งร้านเลย แบบผูกก็มี ผูกแบบไหนตามใจชอบได้ ตัวอย่างก็ดูกันรูปได้เลยครับ แต่เป็นแบบผู้หญิงนะครับผู้ชายไค่อยมี อิๆผมเลยเลือกให้ผู้หญิงของผมไปคู่นึงครับสีเหลืองแดงสวยใช่เล่น หากพูดถึงราคาก็ไม่แพงสักเท่าไหร่คู่นึงก็อยู่ที่ 350 บาทครับ หากเป็นงานแฮนด์เมกถือว่าราคาไม่แพงเลยครับ
เดินไปสักนิดก็จะเจอปืนไม้ ที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่เค้าเอาไว้ล่าสัตว์ในสมัยก่อนโน้น มีให้ลองกันครับ 3 ดอก 10บาท จากนั้นก็ไปเจอผู้เฒ่าที่มีอายุมากที่สุดในหมู่บ้าน อายุท่านถึงร้อยปีทีเดียวนะครับ แต่ยังแข็งแรงมากเดินเหินสบายๆ แต่หูแกไม่ค่อยได้ยินเท่าไรนัก เพราะเสื่อมไปตามกาลเวลาครับ แต่แกพูดภาษากลางของไทยไม่ค่อยได้ เม่งกับป๋อจึงเป็นล่ามให้เราครับ
จุดไฮไลท์ของหมู่บ้านชาวม้งที่นี่อยู่ที่สวนหย่อมมี่เค้าจัดขึ้นมาเพื่อเป็นการบ่งบอกถึงความเป็นอยู่ในสมัยก่อนว่าเป็นอย่างไร เช่นตำข้าว นวดแป้ง หรือสิ่งของของชาวม้งที่ใช้กันในสมัยโบราญอุปกรณ์เป็นไม้ซะส่วนใหญ่ และที่บ่งบอกมากที่สุดคือเค้ามีการปลูกฝิ่นให้ดูว่าต้นฝิ่นและดอกฝิ่นเป็นอย่างไร แต่บังเอิญที่เราไปดอกฝิ่นยังไม่บานครับ และก็มีดอกซากุระที่ชาวม้งเค้าเรียกกันดอกเค้าก็จะคล้ายดอกซากุระครับ
เม่งกับป๋อแนะนำเราให้ลองเช่าชุดม้งครับ ราคาก็อยู่ที่ 50 บาททุกชุดครับ เค้าก็จะมีเครื่องประดับตกแต่งครบชุดครับ ชุดก็จะมีอยู่หลากหลายมาก แต่เราก็เอาชุดประจำเผ่าที่เค้าใส่กัน ปัจจุบันเค้าจะใส่กันเฉพาะงานสำคัญๆเท่านั้นเช่น งานแต่งงาน วันขึ้นปีใหม่ม้ง ประมาณนี้ครับ แต่ในสมัยก่อนเค้าแต่งชุดแบบนี้กันเป็นกิจวัตรครับ ชุดของเค้าจะมีความหนามาก เนื่องด้วยภูมิประเทศที่ชาวม้งอาศัยอยู่มีอากาศหนาวเย็นเครื่องแต่งกายของเค้าก็เลยต้องอบอุ่น เพราะชดที่เราใส่จะหนามากครับ หากใครได้มีโอกาสไปเที่ยวดอยปุยก็ลองเช่าใส่ดูกัน หากที่ใครที่ใส่เครื่องเงินเยอะๆ ชาวม้งถือว่าเป็นคนมีฐานะครับ
หลากหลายเสน่ห์ของดอยปุยมีอยู่มากมายแต่ที่ท็อปเชียงใหม่ ขอชื่นชมก็คือ “มัคคุเทศก์น้อย” นี่แหละครับทำให้เด็กมีรายเสริมช่วยเหลือครอบครัว และเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ แต่มีอยู่อย่างนึงที่ ท็อปเชียงใหม่ อยากจะชี้แนะอยู่อย่างนึงก็คือว่าการสอนให้เด็กๆ ชาวม้งให้ขอเงินจากนักท่องเที่ยวจากที่ต่างๆ มันทำให้การท่องเที่ยวของหมู่บ้านดอยปุยไม่มีเสน่ห์หรืออาจะทำให้เสน่ห์ของชาวม้งที่นักท่องเที่ยวต้องการจะเดินทางมาดูวัฒนธรรมที่ดีงามนั้นรู้สึกไม่ดีนัก เพราะจะมีเด็กอยู่กลุ่มนึงที่เค้าคอยขอเงินจากนักท่องเที่ยวอยู่และสามารถพูดได้ทุกภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาญี่ปุ่นหรือภาษาจีน เยอรมัน ผรั่งเศษ แต่จะพูดได้เฉพาะประโยคเดียวเท่านั้นครับ
ท็อปเชียงใหม่ ขอฝากตรงนี้ไว้ด้วย เพราะใช่ว่าจะทำให้เสน่ห์ของชาวเชียงใหม่ค่อยๆเสื่อมลง บางทีอาจะทำให้เสน่ห์ของคนไทยอย่างเราๆหมดไปก็ได้นะครับ แต่ถึงอย่างไร ท็อปเชียงใหม่ ก็ยังส่งเสริมให้เด็กไทยมีอนาคตที่ดีนะครับ