เมืองพะเยาเป็นเมืองเก่าที่สำคัญอีกเมืองหนึ่งก่อน พ.ศ. ๑๘๓๙ ตามเอกสารตำนานต่างๆ เรียกชื่อว่า ภูกามยาว เรื่องราวของเมืองนี้ก็เช่นเดียวกับหริภุญไชย สามารถตรวจสอบได้จากข้อมูลต่างๆ ได้แก่ เอกสารประเภทตำนาน เป็นต้นว่า ตำนานพะเยา ฉบับวัดศรีโคมคำ ตำนานเมืองพะเยา ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ประชุมพงศาวดารภาค ๖๑ ข้อมูลจากศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่สอง ปรากฏชื่อเมืองพะเยาด้วยดังข้อความว่า
“ … เมืองใต้ออกพ่อขุนนำถุม เบื้องตะวันออกเถิง … เบื้องหัวนอนเถิงลุนคา ขุนคา ขุนด่าน … เบื้องในหรดีถึงฉอด เวียงเหล็ก … เบื้องตะวันตกเถิง … ลำพูน … บู .. เบื้องพายัพถึงเชียงแสนและพะเยา … ลาว … ”
ข้อความในจารึกแสดงว่ามีเมืองพะเยาก่อน พ.ศ. ๑๘๓๙ ตามตำนานเมืองพะเยา เขียนว่าเมืองนี้สร้างขึ้นโดยพ่อขุนจอมธรรม ซึ่งพระองค์ได้เป็นราชบุตรของพ่อขุนลาวเงินหรือขุนเงินแห่งเมืองเงินยางเชียงแสน พ่อขุนจอมธรรมได้อพยพประชาชนมาสร้างเมืองพะเยา และมีเชื้อสายของพระองค์ปกครองสืบมา กษัตริย์พระองค์สำคัญอีกพระองค์หนึ่งของพะเยาเป็นที่รู้จักของปัจจุบันดี คือ พระยา งำเมือง ซึ่งตามตำนานเล่าว่าพระองค์เป็นพระสหายของพระยามังราย ได้ทรงมาร่วมสร้างเมืองเชียงใหม่ด้วย
นอกจากพระยางำเมืองแล้ว ตามตำนานต่างๆ ได้เล่าว่า พระยาเจือง หรือขุนเจือง ผู้นำที่พะเยามีความสามารถมาก พระองค์มีพระชนมายุระหว่าง พ.ศ. ๑๖๒๕ – ๑๗๐๕ โดยพระยาเจืองเป็นกษัตริย์พะเยา ในสมัยของพระองค์ ดินแดนล้านนาไทยได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางถึงสิบสองพันนา เวียตนาม (แกว) ล้านช้าง สมัยของพระองค์เป็นสมัยสำคัญอีกสมัยหนึ่งของล้านนาไทย อนึ่งจากการศึกษาค้นคว้าทางด้านโบราณคดีที่เมืองพะเยาของ ร.ศ.ศรีศักดิ์ ได้พบเครื่องมือหินและโลหะ คือ หัวขวานสำริดและผาลไถ ทำด้วยเหล็กกำหนดอายุไม่ได้ที่เมืองพะเยา สันนิษฐานบริเวณที่ราบลุ่มเชียงรายฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ได้พัฒนาเป็นสังคมบ้านเมืองก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ นอกจากนี้
เมืองพะเยายังมีความเจริญทางศิลปกรรม ได้พบศิลปวัตถุจำนวนมากที่พะเยา เรียกว่า ศิลปสกุลช่างพะเยา และได้พบศิลาจารึกเป็นจำนวนมากอีกด้วย
เมืองพะเยามีกษัตริย์ปกครองสืบมาต่อจากพระยาจอมธรรมหลายพระองค์จนถึงสมัย พระยาคำลือ ซึ่งขณะนั้นเชียงใหม่มีกษัตริย์ชื่อพระยาคำฟู ปกครองเชียงใหม่ระหว่าง พ.ศ. ๑๘๖๖ – ๑๘๗๙ กษัตริย์ลำดับที่ ๕ พระยาคำฟูได้ร่วมมือกับพระยาเมืองน่านยกกองทัพไปตีพะเยาและยึดครองพะเยาได้ในปี พ.ศ. ๒๐๓๘ ซึ่งปรากฏข้อความในศิลาจารึกวัดลี แต่ในตำนานพะเยาเขียนว่า พระยา คำฟูยกทัพไป พ.ศ. ๑๘๘๑อย่างไรก็ตาม สงครามครั้งนี้ ทำให้พะเยาเสียเอกราชตกเป็นเมืองในอาณาเขตของแคว้นล้านนาตั้งแต่นั้นมา
โดยสรุป ดินแดนภาคเหนือของประเทศไทย บริเวณแม่น้ำต่างๆ คือ แม่น้ำกก แม่น้ำโขง แม่น้ำปิง แม่น้ำอิง ฯลฯ มีชุมชนตั้งอยู่แล้วก่อนที่พระยามังรายจะสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ ดินแดนบริเวณนี้มีวัฒนธรรมเจริญรุ่งเรืองหลายด้าน และเมื่อพระยามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว สันนิษฐานว่าจะมีการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดและรับเอาวัฒนธรรมของชุมชนที่มีอยู่และเจริญรุ่งเรืองแล้วมาเป็นของตนเอง เป็นต้นว่าล้านนาไทยเชียงใหม่อาจจะรับเอากฎหมายธรรมสัตถของมอญซึ่งใช้อยู่ในหริภุญไชยมาตราเป็นกฎหมายมังรายศาสตร์ และรับเอาอักษรมอญมาดัดแปลงเป็นอักษรพื้นเมืองล้านนาหรืออักษรไทย นอกจากนี้อาจจะรับเอาพุทธศาสนาของแคว้นหริภุญไชยมาด้วย เพราะหริภุญไชยมีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านพุทธศาสนา เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนามาจนถึงอย่างน้อยสมัยพระเจ้า กือนา กษัตริย์ราชวงศ์มังรายปกครองเชียงใหม่เป็นลำดับที่ ๖ (พ.ศ. ๑๘๙๘ – ๑๙๒๘) พระยากือนาจึงได้พยายามสร้างให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนา
อนึ่ง สันนิษฐานว่า ก่อนที่พระยามังรายจะสร้างเมืองเชียงใหม่นั้น ดินแดนบริเวณนี้คงจะเป็นที่อยู่ของพวกละว้าหรือลัวะ (Lawa, Sua) กล๋อมหรือขอมดำ พวกนี้ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้เมื่อใด สันนิษฐานว่าจะอยู่นานแล้วก่อนจะสร้างเมืองเชียงใหม่ ดังปรากฏหลักฐานในจามเทวีวงศ์และชินกาลมาลีปกรณ์ได้เล่าว่า ขุนหลวงวิลังคะเป็นกษัตริย์ลัวะปกครองบ้านเมืองอยู่บริเวณดอยสุเทพ และเป็นผู้ที่ประสงค์จะได้พระนางจามเทวีเป็นพระมเหสีของตน
หลักฐานอื่นๆ เกี่ยวกับลัวะพบทั่วไปในบริเวณจังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน ได้พบเนินดินหรือกู่เก่าๆ ในเขตอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน และปัจจุบันพวกลัวะก็ยังอาศัยอยู่ทั่วไปในเขตอำเภอแม่สะเลียง อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน อำเภอจอมทองและอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ อาจารย์ถิ่น รัติกนก และคณะ ได้ทำการศึกษา วิจัยด้านประวัติศาสตร์และมนุษยวิทยาเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีของละว้า ที่บ้านบ่อหลวง บ้านกองลอย บ้านอุมลอง บ้านแม่โถ บ้านวังกอง บ้านขุน และบ้านนาฟ่อน รวม ๗ หมู่บ้าน อำเภอฮอด เชียงใหม่ ซึ่งประชาชนเป็น ชาติลัวะ และพวกลัวะนอกจากจะอาศัยอยู่ในดินแดนดังกล่าวแล้ว ยังมีชนเผ่าลัวะอาศัยอยู่ที่เวียงหนองสอง อำเภอป่าซาง ลำพูน และที่บ้านแม่เหียะ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่อีกด้วย ผลของการศึกษาพบว่า วัฒนธรรมประเพณีของลัวะหลายประการท่อาจจะตกทอดมาถึงคนในเชียงใหม่เพราะมีประเพณีคล้ายกับประเพณีเชียงใหม่ปัจจุบัน คือ ประเพณีการเกิดมี “แม่ฮับ” หรือหมอตำแย ประเพณีการอยู่ไฟหลังการคลอดบุตรเรียกว่า “อยู่เดือน” ความเชื่อเรื่องผีบ้าน ผีเมือง ผีบรรพบุรุษ ประเพณีการบูชาเสาหลักเมือง หรือเสาอินทขิล ความเชื่อเรื่องการปลูกบ้านที่เสามงคลหรือเสาเอก หลังคาบ้านนิยมทำไม้ไขว้เป็นรูปสามเหลี่ยมเรียกว่า “กาแล” และประเพณีทำศพที่มีการจุดไฟยามหน้าศพ ตุงสามหางและตุงห่อข้าวใช้ในกระบวนแห่ศพไปฌาปนกิจ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมประเพณีของลัวะที่พบในประเพณีของเชียงใหม่ในปัจจุบัน
ดังนั้น สันนิษฐานว่า ก่อนที่จะสร้างเมืองเชียงใหม่โดยพระยามังราย พ.ศ. ๑๘๓๙ นั้น บริเวณลุ่มน้ำต่างๆ มีเมืองสำคัญๆ เกิดขึ้นหลายเมือง เป็นต้นว่า หริภุญไชย พะเยา เชียงแสน มี วัฒนธรรมที่เป็นของตนเอง และได้มีการผสมผสานทางด้านวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มชนต่างๆ ด้วย
๙ น.ณ. ปากน้ำ “ศิลปสมัยเชียงแสนพะเยา” วารสารเมืองโบราณ ๗ (๒ เมษายน – กรกฎาคม ๒๕๒๔) หน้า ๔๙ – ๖๐.
[1] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๕๗ จารึกวัดลี จารึกว่าพะเยาเสียเอกราช จ.ศ. ๘๕๗ แต่ตำนานเมืองพะเยา เขียนว่าเสีย เอกราชนี้ จ.ศ. ๗๐๐
[1] Danold Swearer, Ibid, P 86.
[1] ดูรายละเอียดใน จามเทวีวงศ์ และ ชินกาลมาลีปกรณ์
[1] พระยาอนุมานราชธน, เรื่องของชาติไทย (พระนคร : คุรุสภา ๒๕๑๔) หน้า ๒๑๘