เชียงใหม่สมัยปฏิรูปการปกครองหัวเมืองลาวเฉียง (พ.ศ. ๒๔๒๗ – ๒๔๓๕)
การปฏิรูปหัวเมืองลาวเฉียงเป็นการเข้าควบคุมเมืองเชียงใหม่อย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก ซึ่งรัชกาลที่ ๕ มีพระราชดำริว่าในการวางรากฐานการปฏิรูปต้องส่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิต- ปรีชากรไปปูทางเพราะนอกจากเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงแล้ว ยังเป็นผู้ที่มีความสามารถรอบรู้และมีความตั้งพระทัยในการดำเนินงาน ทำให้เจ้าเมืองเชียงใหม่และเจ้านายบุตรหลานยำเกรงและยอมรับการ เปลี่ยนแปลงการดำเนินงานกรมหมื่นพิชิตปรีชากรทรงปรับปรุงด้านการปกครองให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น โดยยังคงให้มีตำแหน่งเค้าสนามหลวงแต่ลดความสำคัญลงจนยกเลิกไปเอง จากนั้นทรงแต่งตั้งเสนา ๖ ตำแหน่งขึ้นมาใหม่ ประกอบด้วยกรมมหาดไทย กรมทหาร กรมคลัง กรม ยุติธรรม กรมวัง และกรมนา แต่ละกรมมีเจ้านายบุตรหลานดำรงตำแหน่งเสนา เป็นผู้บังคับบัญชากรม ข้าราชการจากส่วนกลางเป็นผู้ช่วยเสนา ทำหน้าที่ให้คำแนะนำและช่วยเหลือเจ้านายบุตรหลานที่ยังไม่ เข้าใจรูปแบบการปกครองอย่างใหม่ ดังนั้น ผู้ช่วยเสนาจึงเป็นผู้คุมอำนาจการปกครองและทำหน้าที่ จัดการด้านต่างๆ อย่างแท้จริง นอกจากนั้นมีตำแหน่งพระยารองซึ่งสงวนไว้ให้เจ้านายบุตรหลาน หรือขุนนางพื้นเมืองเป็นตำแหน่งที่ไม่มีความสำคัญมาก แต่มีไว้เพื่อถนอมน้ำใจชาวพื้นเมือง ในแต่ละกรมจึงประกอบด้วยตำแหน่งพระยาว่าการกรม (เสนา) พระยาผู้ช่วยไทย (ผู้ช่วยเสนา) และพระยารองลาวตำแหน่งเสนาทั้ง ๖ ตั้งขึ้นเพื่อมิให้เจ้านายบุตรหลานรู้สึกว่าต้องสูญเสียอำนาจและ เกียรติยศไป สำหรับเหตุผลของการตั้งเสนา ๖ ตำแหน่ง เพื่อจะกระจายอำนาจของเจ้าเมือง ซึ่งเคยมีอย่างมากไปสู่เจ้านายบุตรหลานและโดยเฉพาะข้าราชการจากส่วนกลาง ซึ่งเป็นกลจักรสำคัญของการควบคุมอำนาจ
อย่างไรก็ตามตำแหน่งเสนาทั้ง ๖ เป็นตำแหน่งการเมืองซึ่งคัดเลือกโดยเค้าสนามหลวงแล้วเสนอให้เจ้าเมืองแต่งตั้งและมีสิทธิโยกย้ายหรือถอดถอนได้ ซึ่งเป็นการให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ทำหน้าที่ควบคุมเสนาทั้ง ๖ ด้วย และเป็นนโยบายที่ต้องการไม่ให้ตำแหน่งเสนาทั้ง ๖ เป็นอิสระจนเกินไป ซึ่งมีผลทำให้เสนาทั้ง ๖ และเค้าสนามหลวงมีความสัมพันธ์กัน
การจัดการปกครองแบบใหม่จำเป็นต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องเก็บภาษีจาก ท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย โดยที่รัฐบาลกลางไม่ต้องส่งเงินมาช่วย และเมื่อมีเงินเหลือจ่ายตามงบประมาณในแต่ละปีกำหนดว่าต้องนำส่งรัฐบาลกลาง เพื่อให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายของการปฏิรูปการปกครองจึงมีการปรับปรุงการเก็บภาษีอากรให้เป็นแบบเดียวกับระบบกรุงเทพ ดังนี้
ประการแรก การจัดระบบผูกขาดให้เจ้าภาษีนายอากรประมูล ครั้งแรกมีภาษี ๕ ชนิด คือ ภาษีสุรา ภาษีสุกร ภาษีนา ภาษีครั่ง และสมพัตสรต้นไม้
ประการที่สอง การเพิ่มชนิดของภาษีอากรขึ้นใหม่หลายอย่าง แยกตามหมวดหมู่ได้ถึง ๙ ประเภท ซึ่งแต่เดิมเท่าที่พบมีภาษีข้าวและภาษีหลังคาเรือนเท่านั้น
ประการสุดท้าย รูปแบบการเก็บภาษี เดิมเก็บเป็นผลผลิต เช่น ปลูกข้าวเสียภาษีเป็นข้าว แต่ระบบใหม่ต้องเสียภาษีเป็นเงิน ทั้งที่ระบบเศรษฐกิจแบบเงินตรายังไม่แพร่หลาย ราษฎรยังเคยชินกับการแลกเปลี่ยนสิ่งของและระบบเศรษฐกิจคงเป็นแบบเลี้ยงตัวเอง
การจัดเก็บภาษี “ระบบกรุงเทพฯ” ดังกล่าว นับว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ครั้งใหญ่ในล้านนาไทยที่มีผลกระทบกระเทือนต่อราษฎรอย่างยิ่ง เพราะราษฎรนอกจากจะถูกขูดรีดจากเจ้าภาษีนายอากรแล้วยังต้องจ่ายภาษีเป็นเงินจำนวนมาก ราษฎรจึงเดือดร้อนกรมหมื่นพิชิตปรีชากรทรงทำหน้าที่วางรากฐานกับการปฏิรูปหัวเมืองลาวเฉียงเท่านั้น โดยใช้เวลาเพียงปีเศษ (พ.ศ. ๒๔๒๗ – ๒๔๒๘) ก็เสด็จกลับกรุงเทพฯ เพื่อช่วยราชการด้านอื่นต่อไป รัฐบาลกลางได้จัดส่งข้าหลวงคนต่อมาปกครอง โดยมีนโยบายให้จัดการปกครองตามแบบที่กรมหมื่นพิชิตปรีชากรทรงวางรากฐานไว้ แต่รูปแบบที่กรมหมื่นพิชิตปรีชากรทรงวางไว้เสื่อมคลายลงเป็นลำดับนับตั้งแต่พระยาเพชรพิไชย (จิน จารุจินดา) (พ.ศ. ๒๔๓๑) ดำรงตำแหน่งข้าหลวงห้าหัวเมือง พระยาเพชรพิไชยแทนที่จะรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของรัฐบาลกลาง กลับเป็นใจให้เจ้าอินทรวิชยานนท์ เจ้าเมืองเชียงใหม่ล้มเลิกระเบียบแบบแผนต่างๆ โดยเจ้าอินทรวิชยานนท์ออกหนังสือประกาศเรียกร้องให้รัฐบาลกลางยกเลิกเสนา ๖ ตำแหน่ง ยกเลิกระบบภาษีอากรแบบกรุงเทพฯ ขอใช้ระบบเดิมคือเก็บส่วยในอัตรา ๑๐ ชัก ๒ แล้วให้นำส่งเค้าสนาม ขอเก็บภาษีข้าวเป็นผลผลิตและเก็บภาษีหลังคาเรือน ในคำประกาศนั้นอ้างว่าเทพยดาที่รักษาบ้านเมืองไม่พอใจการดำเนินงานของกรมหมื่นพิชิตปรีชากร จึงบันดาลให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล และพืชพันธุ์ธัญญาหารก็ไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนสมัยเจ้าเมืองเชียงใหม่คนก่อนๆ นับเป็นวิธีการที่อ้างความเชื่อถือของราษฎรเป็นเครื่องมือต่อรอง ซึ่งเข้าใจว่าราษฎรบางส่วนคงเห็นด้วยกับคำประกาศ เพราะกำลังเดือดร้อนกับการกดขี่ของเจ้าภาษีนายอากรอยู่แล้ว
หลังจากเจ้าอินทรวิชยานนท์ออกหนังสือประกาศให้ราษฎรทราบแล้ว ก็นำความกราบบังคมทูลต่อรัชกาลที่ ๕ ซึ่งรัชกาลที่ ๕ ไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เข้าสู่ระบบเดิม แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่กี่เดือน พระยาเพชรพิไชยกลับยินยอมให้เจ้าอินทรวิชยานนท์ยกเลิกระบบการเก็บภาษีแบบกรุงเทพฯ โดยพลการ นอกจากนั้นพระยาเพชรพิไชยยังใช้ตำแหน่งหาผลประโยชน์ เช่น ทุจริตเงินหลวงถึง ๑๖,๓๗๗ รูปี และร่วมมือกับเจ้าเมืองเชียงใหม่ให้อนุญาตเปิดบ่อนการพนัน ทั้งที่เมื่อสมัยกรมหมื่นพิชิตปรีชากรทรงมีประกาศห้ามเล่นการพนันทุกชนิดเป็นอันขาด
พระยาเพชรพิไชยกระทำผิดอย่างร้ายแรงดังกล่าว จึงถูกเรียกตัวกลับกรุงเทพฯ ทันที และผลการปฏิบัติงานของพระยาเพชรพิไชยสร้างความแตกแยกในหมู่ข้าราชการไทยที่ส่วนกลางส่งมา เนื่องจากมีข้าราชการไทยอีกกลุ่มหนึ่งพยายามรักษาอำนาจรัฐบาลกลางอย่างเต็มที่ ความแตกแยกของข้าราชการไทยทำให้ราชการต่างๆ หยุดชะงักลง และเป็นโอกาสให้เจ้าเมืองเชียงใหม่เรียกร้องอำนาจและผลประโยชน์คืน
ในการแก้ไขปัญหารัฐบาลกลางส่งข้าหลวงชุดใหม่มา ประกอบด้วย พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์ ดำรงตำแหน่งข้าหลวงพิเศษ และพระยามหาเทพในตำแหน่งข้าหลวงห้า หัวเมือง ดำเนินการแก้ไขสถานการณ์โดยพยายามรักษาอำนาจรัฐบาลกลาง แต่สถานการณ์กลับทวีความรุนแรงมากขึ้นจนกลายเป็นกบฏพระยาปราบสงคราม (พญาผาบ) กบฏพระยาปราบสงครามเกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๒ ที่ตำบลหนองจ๊อม อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เรื่องราวเกี่ยวกับกบฏพระยาปราบสงครามเป็นสิ่งที่น่าสนใจยิ่ง จึงมีการศึกษา ค้นคว้ากันมาบ้างแล้ว แต่ยังสามารถตีความในแนวทางอื่นได้อีก ซึ่งผู้เขียนพยายามศึกษาเรื่องนี้โดยใช้หลักฐานจากการสัมภาษณ์บุคคลที่สูงอายุในท้องถิ่น ประกอบกับหลักฐานของทางราชการที่ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
จากการศึกษาพบว่า พระยาปราบสงครามผู้นำกบฏมีตำแหน่งเป็นแม่ทัพเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีความสามารถสูง และเป็นผู้ปกครองระดับท้องถิ่นโดยได้รับความไว้วางใจจากเจ้าเมืองเชียงใหม่ให้ ปกครองและเก็บภาษีด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง คือบริเวณแขวงจ๊อม (หนองจ๊อม) แขวงคือ (แม่คือ) และแขวงกอก จากหลักฐานของทางราชการระบุชัดเจนว่าพระยาปราบสงครามเป็นแคว่น (กำนัน) แต่เมื่อพิจารณาหน้าที่ของพระยาปราบสงครามซึ่งได้ปกครองแคว่นและแก่บ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน) โดยพิจารณาจากคำกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๕ ของเจ้าพระยาพลเทพ มีความตอนหนึ่งว่า “เป็นต้นท้าวขุนกรมการแขวงกำนันนายบ้าน” เพราะฉะนั้นหากเทียบอำนาจหน้าที่นี้คงเท่ากับนายอำเภอ แต่ในสมัยนั้นบริเวณ ๓ แขวงดังกล่าวขึ้นกับเมืองเชียงใหม่ ยังไม่มีการจัดตั้งเป็นอำเภอดังปัจจุบัน จากการสัมภาษณ์บุคคลในท้องถิ่นต่างมีความเห็นตรงกันว่า พระยาปราบสงครามเป็นผู้นำท้องถิ่นที่เก่งกล้าด้านไสยศาสตร์และการรบพุ่ง เป็นที่ยอมรับนับถือและเลื่องลือในหมู่บ้านละแวกนั้น ซึ่งคงมีส่วนทำให้ราษฎรที่เดือดร้อนจากการเก็บภาษีเข้าร้องเรียนต่อพระยาปราบสงคราม พระยาปราบสงครามจึงออกปกป้องราษฎรจนลุกลามเป็นกบฏพระยาปราบสงคราม
เหตุการณ์กบฏพระยาปราบสงครามมีจุดเริ่มต้นจากระบบเก็บภาษีอากรผูกขาด โดยเฉพาะภาษีหมาก พลู มะพร้าว เมื่อพระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์กำหนดให้เก็บอากรพืชสวนแบบกรุงเทพฯ คือออกเก็บปีละครั้งแทนระบบเดิมที่กรมหมื่นพิชิตปรีชากรกำหนดให้มีการเสียภาษีเฉพาะเมื่อมีการซื้อขายเกิดขึ้นเท่านั้น ฉะนั้นระบบใหม่แม้ไม่มีการซื้อขายก็ต้องถูกเก็บภาษีหรือยังไม่ทันขายก็ต้องเสียภาษีแล้ว ทำให้ราษฎรไม่สามารถหาเงินมาเสียได้ทัน ราษฎรจึงต้องการเสียภาษีเป็นผลผลิตทางเกษตรตามระบบการเก็บภาษีแบบเดิมของลานนาไทย
น้อยวงษ์เป็นผู้ประมูลภาษีหมาก มะพร้าว พลู ได้ในอัตราปีละ ๔๑,๐๐๐ รูปี ซึ่งสูงกว่าอัตราเดิมถึง ๑๖,๐๐๐ รูปี ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเก็บภาษีอย่างเข้มงวดเพื่อให้ได้เงินกลับคืนมาให้มากที่สุด น้อยวงษ์ได้ออกเก็บภาษีตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ เป็นต้นมา ในอัตราที่สูงกว่าเดิม คือ หมาก ๒ ต้น ต่อวิ่น มะพร้าว ๑ ต้น ต่อวิ่น (๑ วิ่น = ๑๒.๕ สตางค์) ราษฎรที่ปลูกพืชสวนดังกล่าวได้รับการเดือดร้อนจากการข่มเหงของพวกเจ้าภาษีที่บังคับให้จ่ายค่าภาษีตามที่ตนกำหนดซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก โดยเฉพาะแขวงคือ แขวงจ๊อม และแขวงกอก ในเขตพระยาปราบสงครามปกครอง เป็นบริเวณที่นิยมปลูกต้นหมากกันมากมายจนต้องใช้วิธีการนับโดยจักตอกมัดละร้อย นำไปมัดตามโคนต้นหมาก แล้วหักลบออกจากตอกที่เหลือแต่ละบ้านจะต้องเสียภาษีระหว่าง ๘๐ – ๒๐๐ รูปีซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก เมื่อเทียบกับสมัยที่พระยาปราบสงครามทำหน้าที่เก็บภาษีส่งให้เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ จะเก็บภาษีหลังคาเรือนครอบครัวละ ๕ รูปี ส่วนข้าวก็เก็บตามจำนวนพันธุ์ที่ใช้ปลูกในอัตราพันธุ์ข้าวปลูก ๑ ถัง เสียส่วย ๒ ถัง
เมื่อพวกเจ้าภาษีมาเก็บอากรพืชสวนดังกล่าวในเขตแขวงจ๊อม (ตำบลหนองจ๊อม อำเภอ สันทรายในปัจจุบัน) ราษฎรส่วนหนึ่งไม่สามารถนำเงินมาชำระค่าภาษีได้จึงขอเสียเป็นผลผลิต พวก เจ้าภาษีไม่ยอมกลับข่มเหงจำขื่อมือเท้าราษฎร สร้างความไม่พอใจแก่ราษฎรที่พบเห็นเกิดรวมตัวกันต่อต้านพวกเจ้าภาษีโดยมีพระยาปราบสงครามเป็นผู้นำ ซึ่งเริ่มต่อต้านด้วยการประกาศห้ามไม่ให้ เจ้าภาษีเก็บภาษีในเขตตำบลหนองจ๊อมแล้วลุกลามใหญ่โตถึงกับวางแผนจะเข้าโจมตีเมืองเชียงใหม่ โดยมุ่งหมายจะสังหารข้าราชการจากส่วนกลางและเจ้าภาษีชาวจีนในฐานะผู้สร้างความเดือดร้อน แต่ถูกทางการปราบปรามเสียก่อนโดยที่พระยาปราบสงครามหลบหนีไปได้จึงรวมกำลังขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งครั้งหลังได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าเมืองเชียงตุง สามารถยึดเมืองฝางได้ อย่างไรก็ตามในที่สุดก็ถูกทางการปราบปรามจนสำเร็จ
สาเหตุของกบฏพระยาปราบสงครามเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการ ปกครองและเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากการปฏิรูปการปกครองในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งทำให้เจ้าเมืองเชียงใหม่และเจ้านายบุตรหลานต้องสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จึงพยายามต่อต้านการดำเนินงานปฏิรูปการปกครองตลอดมา และในเหตุการณ์กบฏพระยาปราบสงคราม เจ้านายในเมืองเชียงใหม่ก็มีส่วนสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง
ในการตีความเท่าที่ผ่านมาต่างก็ยอมรับว่าเจ้านายในเมืองเชียงใหม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกบฏด้วย แต่ไม่มีผู้ใดพิจารณาต่อไปว่าการปฏิรูปการปกครองของกรมหมื่นพิชิตปรีชากรนั้น ได้กระทบกระเทือนถึงโครงสร้างทางการปกครองในระดับล่างทั้งหมด ซึ่งรวมถึงแคว่นและแก่บ้านด้วย ข้าราชการท้องถิ่นเหล่านี้ ก่อนหน้าจะปฏิรูปการปกครองเป็นกลุ่มที่เคยมีผลประโยชน์ต่อการเก็บ รวบรวมภาษีอากรให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ ข้าราชการท้องถิ่นจึงสูญเสียผลประโยชน์ และรู้สึกว่ารัฐบาลกลางเข้ามายุ่งเกี่ยวมากเกินไป หลักฐานที่สนับสนุนนั้นเห็นได้ชัดว่าผู้ร่วมก่อการกบฏครั้งนี้ล้วนเป็น ข้าราชการระดับท้องถิ่นทั้งสิ้น เช่น พระยาปราบสงคราม แคว่นและแก่บ้าน ประกอบด้วย พระยาขัติยะ (แคว่นแม่คือ) ท้าวยาวิไชย (แก่บ้านป่าบง) พระยารัตนคูหา (แก่บ้านถ้ำ) พระยาจินใจ (แคว่นจ๊อม) พระยาชมภู (แก่หัวฝาย) ท้าวเขื่อนคำ (แคว่นกอก) และท้าวขัด ท้าวใจ ท้าวเขื่อนแก้ว ท้าวราช ท้าวขันคำ แสนเทพสุรินทร์ เป็นต้น
สำหรับสาเหตุที่ผลักดันให้พระยาปราบสงครามก่อการกบฏผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นผลโดยตรงจากการสูญเสียผลประโยชน์ด้านการจัดเก็บภาษีด้านแม่ปิงฝั่งตะวันออก นอกจากนั้นยังมีสาเหตุประกอบการตัดสินใจของพระยาปราบสงครามอีกด้วย ได้แก่ การได้รับความสนับสนุนจากเจ้านายในเมืองเชียงใหม่ และไม่พอใจการทำทารุณต่อราษฎรในความปกครอง ซึ่งพระยาปราบสงครามตาม คำบอกเล่าเป็นคนดีรักความยุติธรรม
หลังจากเกิดกบฏพระยาปราบสงคราม อำนาจของรัฐบาลกลางเริ่มลดลงตามลำดับจนมีลักษณะคล้ายระบบเดิมอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งรัชกาลที่ ๕ ทรงเข้าพระทัยถึงความรู้สึกกระทบกระเทือนใจของเจ้านายในเมืองเชียงใหม่ที่เกิดขึ้นตลอดเวลาที่ดำเนินการปฏิรูป ในช่วงหลังกบฏพระยาปราบสงคราม (พ.ศ. ๒๔๓๒ – ๒๔๓๕) จึงไม่มีการแก้ไขปัญหาทันที