ประเพณีแห่เทียนพรรษา ก่อนถึงวันเข้าพรรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ) พุทธศาสนิกชนชาวไทยจะถือโอกาสเข้าวัดทำบุญ ถวายเทียนพรรษา ตามวัดวาอารามต่างๆ ถึงแม้ว่าปัจจุบันการถวายเทียนได้ถูกปรับเปลี่ยนให้มีความเหมาะสมกับเหตุการณ์ เป็นการถวายหลอดไฟฟ้าแทนแล้วก็ตาม การถวายเทียนพรรษาก็ยังคงอยู่คู่กับสังคมไทยในฐานะประเพณีแห่เทียนพรรษา
สมัยก่อน ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา พระภิกษุสงฆ์จะจำพรรษาอยู่ ณ วัดใดวัดหนึ่งตลอด 3 เดือน เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย สวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็น ในการศึกษาพระธรรมคำสอนจำเป็นต้องอาศัยแสงสว่างจากตะเกียงหรือแสงเทียน ชาวบ้านที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนาก็จะนำเทียนที่มีอยู่ในบ้านออกมารวมกัน หล่อให้เป็นเทียนขนาดใหญ่ แล้วจัดขบวนฟ้อนรำแห่ต้นเทียนไปถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ตามวัด ด้วยความเชื่อที่ว่าผู้ใดถวายเทียนพรรษาแด่พระภิกษุสงฆ์ ชีวิตจะสว่างไสวดุจแสงเทียน
โดยเทียนที่จะนำไปถวายตามวัดมีมีลักษณพิเศษกว่าเทียนทั่วไปคือ มีการแกะสลักลวดลายที่วิจิตรงดงามลงบนต้นเทียน หรือการพิมพ์ลายเทียนแล้วนำไปประดับบนต้นเทียน การประดับตกแต่งขบวนแห่ด้วยผ้าฝ้าย ผ้าไหม ดอกไม้สด เรียกได้ว่างานประเพณีแห่เทียนพรรษาเป็นงานประเพณีที่รวมเอาภูมิปัญญาชาวบ้านแขนงต่างๆ ในท้องถิ่นมาไว้ด้วยกัน เช่น งานหล่อเทียน งานแกะสลักลวดลายไทย งานประดับผ้าไหม ดอกไม้สด งานทอผ้าพื้นเมืองสำหรับเครื่องแต่งกายขบวนฟ้อนรำ การฟ้อนรำ เครื่องดนตรีประจำท้องถิ่น ฯลฯ
นอกจากนี้ งานประเพณีแห่เทียนพรรษายังแฝงไว้ด้วยกุศโลบายที่ต้องการเห็นความสามัคคีของคนในชุมชน การร่วมมือร่วมใจกัน การมีส่วนร่วมในสังคม วัยหนุ่มสาวมีโอกาสได้มาร่วมด้วยช่วยกัน เป็นลูกมือช่างในการตกแต่งต้นเทียน ร่วมกันอนุรักษศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างการฟ้อนรำที่เลียนแบบ ดัดแปลงท่วงท่ามาจากวิถีชีวิต การประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการรำเซิ้งต่างๆ เช่น เซิ้งกระติบ เซิ้งแหย่ไข่ดอง เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการฟ้อนรำ เช่น โปงลาง แคน ที่ได้คนรุ่นเก่าถ่ายทอดความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ มีการถ่ายทอดเนื้อร้อง จังหวะที่สนุกสนาน ครื่นเครง จนทำให้งานประเพณีแห่เทียนเป็นงานประจำปีที่หลายคนตั้งตารอ
ประเพณีแห่เทียนนั้นจัดขึ้นทุกภาคของประเทศไทย ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคอีสาน แต่งานประเพณีแห่เทียนพรรษาที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดจะอยู่ที่ภาคอีสาน เช่น งานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดอื่นๆ ใกล้เคียง
ที่มา ประเพณี.net