ประเพณีสงกรานต์

วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณก่อนที่จะมีการประกาศวันขึ้นปีใหม่แบบสากล ในขณะที่ชาวต่างชาติต่างรู้จักวันสงกรานต์ในฐานะของการละเล่นสาดน้ำคลายร้อนที่โด่งดังไปทั่วโลก

คำว่าสงกรานต์นั้น แปลว่า ก้าวขึ้น เปลี่ยนผ่าน หรือย่างขึ้น ซึ่งตรงกับทางโหราศาสตร์ที่ว่า วันสงกรานต์จะเป็นช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งตรงกับวันที่ 13 , 14, 15 เมษายนของทุกปี ในบางจังหวัดก็จะมีการเฉลิมฉลองยาวนานกว่า 3 วัน เช่น ประเพณีสงกรานต์เชียงใหม่ หรือประเพณีสงกรานต์พระประแดง ประเพณีสงกรานต์(วันไหล)พัทยา และนอกจากไทยแล้ว ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง เช่น ลาว พม่า กัมพูชา ก็มีประเพณีวันสงกรานต์เช่นเดียวกัน

ในระหว่าง 3 วันนี้ จะมีกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น การทำความสะอาดบ้านเรือน เข้าวัดทำบุญ ขนทรายเข้าวัด ก่อเจดีย์ทราย สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และการละเล่นสาดน้ำของหนุ่มสาว

ประเพณีสงกรานต์

ในวันที่ 13  เมษายน จะเรียกว่าวันมหาสงกรานต์ เป็นวันสิ้นปีเก่าเตรียมเข้าสู่วันขึ้นปีใหม่ ผู้คนก็จะปัดกวาด ทำความสะอาดบ้าน เพื่อชำระล้างสิ่งไม่ดีให้ออกไปจากบ้าน เป็นการต้อนรับปีใหม่ บางบ้านก็จะยิงปืน จุดประทัด หรือทำอะไรก็ได้ให้เกิดเสียงดัง เพื่อขับไล่สิ่งไม่ดีต่างๆ ออกไป

วันที่ 14 เมษายน วันเนาหรือวันเน่า ตามวัดวาอารามต่างๆ จะมีการเตรียมงานทำบุญสงกรานต์ ตอนบ่ายๆ จะมีการขนทรายเข้าวัดเตรียมก่อเจดีย์ทราย ในวันนี้คนโบราณมีความเชื่อว่า ห้ามพูดจาไม่ดีต่อกัน ห้ามทะเลาะเบาะแว้ง เพราะจะทำให้โชคไม่ดีไปตลอดปี

วันที่  15 เมษายน วันเถลิงศกหรือวันพญาวัน  เป็นวันที่ผู้คนพากันเข้าวัด ทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว มีการรดน้ำดำหัว ขอพรจากผู้สูงอายุ ผู้อาวุโสในชุมชน มีการก่อเจดีย์ทราย การละเล่นสาดน้ำของหนุ่มสาว ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่หนุ่มสาวจะได้พบปะกันพูดคุยกัน เกี้ยวพาราสีกันได้ด้วยการละเล่นสาดน้ำ

ที่มาของประเพณีสงกรานต์นั้นอิงมาจากตำนานนางสงกรานต์ เมื่อธรรมาบาลกุมารผู้มีสติปัญญาปราดเปรื่อง สามารถตอบคำถามท้าวกบิลพรหมได้ ทำให้ท้าวกบิลพรหมต้องตัดศีรษะตนเองตามที่ตกลงไว้กับธรรมบาลกุมารว่าจะยอมตัดศีรษะให้หากตอบคำถามได้ แต่ศีรษะของท้าวกบิลพรหมนั้นหากตัดแล้วนำไปตั้งไว้บนผืนดิน แผ่นดินจะลุกเป็นไฟ ถ้าโยนขึ้นท้องฟ้า ฝนจะแล้ง ท้าวกบิลพรหมจึงให้ลูกสาวทั้งเจ็ดคนผลัดเปลี่ยนกันจัดขบวนแห่ศีรษะของตนเองรอบเขาพระสุเมรุ ทุกๆ 365 วัน การนำศีรษะของท้าวกบิลพรหมออกแห่จึงถูกนับว่าเป็นการขึ้นปีใหม่นั่นเอง

ประวัติวันสงกรานต์

ในสมัยโบราณ คนไทยถือว่า วันขึ้น 1 ต่ำ เดือนอ้าย ซึ่งจะตรงในช่วงเดือน พฤศจิกายนหรือธันวาคม ให้เป็นวันขึ้นปีใหม่ แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการเปลี่ยนให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ จนต่อมาในสมัยยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปี พ.ศ. 2483 ได้เปลี่ยนวันปีใหม่ให้เป็นวันสากล คือ วันที่ 1 มกราคม แต่ถึงอย่างไร คนโบราณก็ยังคงคุ้นเคยกับวันปีใหม่ไทยในเดือนเมษายน จึงได้กำหนดให้วันที่ 13 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทยร่วมด้วย

นางสงกรานต์ ในโบราณมีการกำหนดไว้ถึง 7 นางด้วยกัน ซึ่งแต่ละนางก็จะมีความหมาย คำทำนายที่แตกต่างกันออกไป โดยทั้ง 7 นางสงกานต์ จะประกอบไปด้วย

  • นางทุงษะเทวี
  • นางรากษเทวี
  • นางโคราคเทวี
  • นางกิริณีเทวี
  • นางมณฑาเทวี
  • นางกิมิทาเทวี
  • นางมโหธรเทวี

เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับวันสงกรานต์

ในวันสงกรานต์ของประเทศไทยในแต่ละภาคจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

  • วันสงกรานต์ภาคกลาง

13 เมษายน จะเรียกว่า “วันมหาสงกรานต์” และถือเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติอีกด้วย

14 เมษายน จะเรียกว่า “วันเนา” และถือเป็นวันครอบครัว

15 เมษายน จะเรียกว่า “วันเถลิงศก” ถือว่าเป็นวันเริ่มจุลศักราชใหม่

  • วันสงกรานต์ภาคเหนือ

13 เมษายน จะเรียกว่า “วันสงขารล่อง” ความหมายว่า อายุสิ้นปีหมดไปอีกปี

14 เมษายน จะเรียกว่า “วันเน่า” วันที่ห้ามพูดคำหยาบคาย

15 เมษายน จะเรียกว่า “วันพญาวัน” ถือว่าเป็นวันเริ่มจุลศักราชใหม่

  • วันสงกรานต์ภาคใต้

13 เมษายน จะเรียกว่า “เจ้าเมืองเก่า” เชื่อกันว่าวันที่เทวดารักษาบ้านเมืองจะกลับบนสวรรค์

14 เมษายน จะเรียกว่า “วันว่าง” วันที่ปราศจากเทวดารักษาเมือง

15 เมษายน จะเรียกว่า “วันรับเจ้าเมืองใหม่” วันรับเทวดาองค์ใหม่เพื่อดูแลบ้านเมืองแทนองค์เดิม

ที่มา ประเพณี.net

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ททท.


ติดต่อเช่ารถพร้อมคนขับ/ซื้อสินค้า/โฆษณาข่าวสาร
Add friend ที่ @topcm
เพิ่มเพื่อน
บทความที่เกี่ยวข้อง
- Advertisment -