หน้าแรกตำบลตำบลท่าตอน

ตำบลท่าตอน

ตำบลท่าตอน  แหล่งท่องเที่ยวและเส้นทางเที่ยว ประเพณีกินวอ ประเพณีบวชลูกแก้ว(ปอยส่างลอง) ประเพณีโล้ชิงช้า  ประเพณีผูกข้อมือ ประเพณีลอยพระอุปคุต  ประเพณีลอยปอยเทียน  ประเพณีลอยกระทง  ประเพณียกย่องครูหมอไตย

ประเพณีกินวอ

ตำบลท่าตอน  เป็นตำบลเล็กๆที่มีภูเขาล้อมรอบ มีลำน้ำกกไหลผ่าน มีทัศนีย์ภาพที่สวยงาม และยังเป็นตำบลที่มีชนเผ่าอาศัยอยู่มากมายหลายเผ่า จึงเป็นที่มาของวัฒนธรรมประเพณีที่หลากหลายและมีความน่าสนใจ เป็นอย่างยิ่ง

ประเพณีกินวอ  หรือขึ้นปีใหม่ ของชนเผ่าลาหู่ ถือว่าเป็นเทศกาลแห่งความสุขของชาวลาหู่เพราะจะมีการเฉลิมฉลองกันอย่างสนุกสนานโดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนจะมีการเต้น “จะคึ” ซึ่งเป็นการเต้นที่เป็นเอกลักษณ์และหาชมได้ยาก  งานจะจัดขึ้นเป็นเวลา 7 วันโดยแบ่งออกเป็นวันปีใหม่ของผู้หญิง 4 วันและวันของผู้ชาย 3 วันประเพณี จะถูกจัดขึ้นในช่วงเดือน มกราคม ของทุกปี ณ หมู่บ้านชนเผ่าลาหู่ ที่อยู่ในพื้นที่ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่

ประเพณีผูกข้อมือ

เป็นประเพณีของชนเผ่ากะเหรี่ยง ตามความเชื่อถือที่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมา ด้วยความที่เชื่อว่าในร่างกายของคนเรามีอยู่ 33 ขวัญ เช่นขวัญศรีษะ ขวัญจะละทิ้งหรือหายไปก็ต่อเมื่อคนๆนั้นตายไป นอกจากนั้นยังเชื่อกันว่าขวัญชอบที่จะหนีไปท่องเที่ยวตามความต้องการของมันเอง และอาจจะถูกผีร้ายต่างๆทำร้ายหรือกักขังไว้ซึ่งจะทำให้ผู้นั้นล้มป่วย การรักษาพยาบาลช่วยเหลือคนเจ็บป่วยคือให้พ่อหมอผีประจำหมู่บ้านเรียกขวัญให้กลับมาสู่บุคคลที่เจ็บป่วยพร้อมกับทำพิธีผูกข้อมือรับขวัญเซ่นไหว้ผีด้วยไก่,หมูสีดำ,เหล้าป่า งานประเพณีผูกข้อมือจัดขึ้นทุกปีในเดือนกุมภาพันธ์ ณ หมู่ 9 บ้านเมืองงาม ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่

ประเพณียกย่องครูหมอไตย

วันยกย่องครูหมอไตหรือ(วันไหว้ครู)จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะได้รำลึกถึงบุญคุณของครูบาอาจารย์ซึ่งเป็นนักประพันธ์ หรือนักกวี ที่มีชื่อเสียงทั้งหลายของชาวไต ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว  ภายในงานจะมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมของชาวไทยใหญ่ที่หาชมได้ยาก เช่นการฟ้อนกิงกะหล่า ฟ้อนโต   ประเพณียกย่องครูหมอไตยจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ที่ วัดใหม่หมอกจ๋าม หมู่ 8 ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่

ประเพณีสงกรานต์

ตำบลท่าตอนเป็นตำบลที่มีลำน้ำกกไหลผ่านไปยังจังหวัดเชียงราย  ทุกวันที่13-15 เดือนเมษายนของทุกปีถือว่าเป็นประเพณีสงกรานต์   และทางตำบลท่าตอนได้จัดงานประเพณีสงกรานต์อย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบสานประเพณีที่สำคัญของคนไทย ในช่วงเวลานั้นปริมาณน้ำในลำน้ำกกบางแห่งจะลดลงจนเป็นหาดทราย ซึ่งเหมาะแก่การพักผ่อนและเล่นน้ำเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมายที่ทางองค์การบริหารส่วนตำบลท่าตอนจัดขึ้น เช่นการประกวดนางสงกรานต์ซึ่งมีความแปลกใหม่ต่างจากที่อื่นคือ ผู้ที่เข้าประกวดต้องล่องเพมายังเวทีการประกวด การเดินขบวนของแต่ละหมู่บ้าน การแสดงศิลปะพื้นบ้าน  การชกมวยและมวยทะเล  การแข่งขันชักคะเย่อในน้ำ    ขึ้นเสาน้ำมัน ฯลฯ ซึ่งสร้างความสนุกสนานให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมเป็นอย่างมาก งานประเพณีสงกรานต์ของตำบลท่าตอนนี้ จะจัดขึ้น ณ บริเวณหาดทรายริมน้ำกกของบ้านท่าตอน

ประเพณีบวชลูกแก้ว(ปอยส่างลอง

ปอยบวชลูกแก้ว (ปอยส่างลอง)เป็นประเพณีบวชเณรตามความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา เพื่อให้บุตรหลานได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและมีความเชื่อว่าจะได้รับบุญกุศลจากการบวชสามเณร พิธีกรรมจะมีการจัดอย่างใหญ่โตโดยแบ่งงานออกเป็น 3 วันคือ

วันแรก เรียกว่าวันแต่งดาในตอนเช้านำเด็กที่โกนหัวแล้วไปแต่งชุดลูกแก้วคล้ายเจ้าชายไทยใหญ่ รับศีล หลังจากนั้นนำลูกแก้วแห่ขอขมาศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน ขอขมาพระสงฆ์ที่วัดและญาติผู้ใหญ่ ผู้ที่เคารพรักใคร่ชอบพอตลอดทั้งวันและนำลูกแก้วกลับไปรับประทานอาหารพักผ่อนที่บ้านเจ้าภาพ

วันที่สอง เป็นวันแห่เครื่องไทยทานทำในตอนเช้ามีขบวนแห่เครื่องไทยทานและลูกแก้วไปที่วัด มีการเลี้ยงอาหารผู้มาร่วมขบวนแห่ และมีการทำขวัญลูกแก้ว เลี้ยงอาหารมื้อพิเศษมีอาหาร ๑๒ อย่าง แก่ลูกแก้วด้วย

วันที่สาม เป็นวันบรรพชาสามเณร ตอนบ่ายแก่แห่ลูกแก้วไปที่วัดและทำพิธีบรรพชา และอาจมีจุดบั้งไฟเป็นการเฉลิมฉลองด้วย

ประเพณีปอยบวชลูกแก้วลองจัดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนเมษายน หรือเดือนพฤษภาคม ของทุกปี ณ วัดท่าตอนพระอารามหลวง

ประเพณีโล้ชิงช้า 

ประเพณีโล้ชิงช้าหรือที่อาข่าเรียกว่า “แย้ขู่อาเผ่ว” เป็นประเพณีรื่นเริงที่สำคัญมากประเพณีหนึ่ง ซึ่งจัดขึ้นเพื่อรำลึกถึง พระคุณแห่งเทพธิดา “อึ่มซาแยะ” ผู้ประทานความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ให้กับพืชพันธุ์ธัญญาหาร และเป็นการเซ่นไหว้บรรพบุรุษอีกด้วย ซึ่งประเพณีนี้จะมีการจัดขึ้นทุกปี ประมาณ ปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน ผู้หญิงอาข่า จะมีการแต่งกายอย่างสวยงาม จากเสื้อผ้าที่ได้เตรียมตลอดทั้งปี มาสวมใส่เป็นกรณีพิเศษในช่วงประเพณีนี้ พิธีกรรมจะถูกจัดขึ้นทั้งหมด 4 วัน

วันแรก เป็นพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ผู้หญิงจะไปตักน้ำบริสุทธิ์ที่แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน เพื่อนำไปแช่ข้าวเหนียวไว้ตำเพื่อเป็นอาหารเส้นไหว้บูชาที่เรียกว่า “ ข้าวปุก”

วันที่สอง วันเริ่มปลูกสร้างชิงช้า วันนี้จะไม่มีการฆ่าสัตว์ใด หนุ่มสาวจะรวมกลุ่มกันร้องเพลงอย่างสนุกสนาน

วันที่สาม เป็นวันฉลองต้อนรับปีใหม่ซึ่งถือว่าเป็นพิธีใหญ่ มีการฆ่าหมู ไก่ และนำสุรามาเลี้ยงกันทั้งหมู่บ้าน และแขกที่มาร่วมงาน

วันที่สี่ เป็นวันสุดท้ายของพิธีกรรม หนุ่มสาวและเด็กจะร่วมกันโล้ชิงช้ากันทั้งวัน ประเพณีโล้ชิงช้านี้จะจัดขึ้นที่บ้านห้วยศาลา อำเภอท่าตอน จังหวัดเชียงใหม่

ประเพณีลอยพระอุปคุต 

ลอยพระอุปคุตนั้นเป็นประเพณีของชาวไทใหญ่ ในอำเภอแม่อาย จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ตามความเชื่อของล้านนาและชาวไทยใหญ่เชื่อว่าพระอุปคุตนั้นสิงสถิตอยู่ที่ ใต้แม่น้ำ หรือสะดือทะเล และมีอิทธิฤทธิ์มากมาย การลอยพระอุปคุตนั้นก็คือการบูชาท่าน เพราะท่านชอบอยู่ใต้น้ำจึงต้องลอยน้ำบูชาท่าน ถือกันว่า พระอุปคุตนั้นมีอยู่ 8 องค์นิพพานไปแล้ว 4 องค์ ที่ยังเหลืออยู่ 4 องค์ ดังนั้นการลอยบูชาท่านจึงจัดให้มี 8 องค์ พิธีการ จะมีการสร้างพระอุปคุตด้วยไม้ ขึ้น 8 องค์ ใส่ในมณฑปที่สร้างขึ้นสำหรับแต่ละองค์เริ่มพิธีบูชาตั้งแต่ ขึ้น 14 ค่ำ และในวันขึ้น 15 ค่ำ โดยขบวนแห่พระอุปคุตจะเริ่มตั้งแต่วัดแม่อายหลวง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ แล้วจึงทำพิธีลอยในแม่น้ำกก ณ ท่าเรือบ้านท่าตอน หมู่ 3 ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่

ประเพณีลอยปอยเทียน

ชาวไทยใหญ่ที่มีความเชื่อหลังจากออกพรรษาแล้ว จะต้องแห่ต้นเทียน พร้อมสิ่งของเพื่อนำไปถวายแด่พระสงฆ์ โดยเชื่อว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จลงมาในช่วงนี้ และเป็นกุสโลบายของผู้ใหญ่ที่ต้องการให้ลูกหลานได้มาพบกันและได้ทำบุญร่วมกัน  ในวันนั้นชาวบ้านจะไปหาต้นสนมาผ่าเป็นชิ้นเล็กๆ นำมามัดรวมกันเป็นต้นขนาดใหญ่สูงประมาณ 2.5-3 เมตร แล้วแห่ไปถวายวัดด้วย พร้อมกับจุดไฟต้นสน เพื่อเป็นพุทธบูชาสร้างนิมิตหมายและความเป็นศิริมงคลให้แก่ชีวิตที่โชติช่วง หญิงและชายจะแต่งกายในชุดของชาวไทยใหญ่อย่างสวยงาม มีวงดนตรีพื้นบ้านแห่นำหน้า พร้อมกับจุดเทียนส่องสว่างเดินไปยังวัด ประเพณีนี้จะถูกจัดขึ้นในช่วงหลังวันออกพรรษา  ณ วัดใหม่หมอกจ๋าม หมู่8 บ้านใหม่หมอกจ๋าม

ประเพณีลอยกระทง

ประเพณีลอยกระทงตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติ หรือประมาณเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ตำบลท่าตอนเป็นตำบลที่มีแม่น้ำกกไหลผ่าน แม่น้ำกกจึงเป็นสายน้ำที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต ทั้งในการเกษตร อุปโภค บริโภค ดังนั้น เมื่อถึง 15 ค่ำ เดือน 12 ประชาชนในพื้นที่ก็จะนำกระทงมาลอยเพื่อเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคา ซึ่งทางตำบลท่าตอนก็ได้จัดงานอย่างยิ่งใหญ่ขึ้นทุกปี และมีกิจกรรมมากมายเช่น การประกวดนางนพมาศ การแสดงศิลปะพื้นบ้าน การประกวดกระทงใหญ่ การจุดพลุดอกไม้ไฟ งานจัดขึ้น ณ บริเวณท่าเรือบ้านท่าตอน หมู่ 3 ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่   (ที่มา : องค์การบริหารส่วนตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย)

รหัสไปรษณีย์ ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่  รหัสไปรษณีย์ 50280

หมู่บ้าน หมู่ที่ ตำบล อำเภอ จังหวัด
  ห้วยปู 1 ท่าตอน แม่อาย เชียงใหม่
  ห้วยมะเฟือง 2 ท่าตอน แม่อาย เชียงใหม่
  ท่าตอน 3 ท่าตอน แม่อาย เชียงใหม่
  ห้วยน้ำเย็น 4 ท่าตอน แม่อาย เชียงใหม่
  หาดชมพู 5 ท่าตอน แม่อาย เชียงใหม่
  สันต้นดู่ 6 ท่าตอน แม่อาย เชียงใหม่
  ท่ามะแกง 7 ท่าตอน แม่อาย เชียงใหม่
  ใหม่หมอกจ๋าม 8 ท่าตอน แม่อาย เชียงใหม่
  เมืองงาม 9 ท่าตอน แม่อาย เชียงใหม่
  ห้วยส้าน 10 ท่าตอน แม่อาย เชียงใหม่
  หัวเมืองงาม 11 ท่าตอน แม่อาย เชียงใหม่
  ผาใต้ 12 ท่าตอน แม่อาย เชียงใหม่
  เมืองงามใต้ 13 ท่าตอน แม่อาย เชียงใหม่
  ร่มไทย 14 ท่าตอน แม่อาย เชียงใหม่
  ห้วยศาลา 15 ท่าตอน แม่อาย เชียงใหม่

จำนวนประชากรใน ตำบลท่าตอน

จำนวนหลังคาเรือน : 2,088 หลังคาเรือน
จำนวนประชากร : 6,911 คน จำนวนผู้สูงอายุ : 236 คน
จำนวนเด็กแรกเกิด ถึง 6 ปี : 187 คน จำนวนผู้สูงอายุ ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง : 24 คน
จำนวนสตรีตั้งครรภ์ : 79 คน จำนวนผู้สูงอายุ ที่ช่วยตนเองไม่ได้ :  – คน
จำนวนสตรีอายุ 35 ปี ขึ้นไป : 1,475 คน จำนวนผู้พิการ :  – คน

ขอบคุณข้อมูลเทศบาล ตำบลท่าตอน


ติดต่อเช่ารถพร้อมคนขับ/ซื้อสินค้า/โฆษณาข่าวสาร
Add friend ที่ @topcm
บทความก่อนหน้านี้
บทความถัดไป
บทความที่เกี่ยวข้อง

ตำบลหายยา

ตำบลฟ้าฮ่าม

ตำบลไชยสถาน

ตำบลสันปูเลย

ตำบลออนเหนือ

Exit mobile version