หากต้องการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในทุกๆ ด้านของจังหวัดเชียงใหม่ ต้องไม่พลาดที่ หอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ หลังองค์ลานสามกษัตริย์ กลางเมืองเชียงใหม่ บริเวณที่ตั้งเคยเป็นสะดือเมือง ภายในจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเมืองเชียงใหม่ และวิถีชีวิตวัฒนธรรมท้องถิ่น นับตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์มา และที่อาคารส่วนหลังจัดแบ่งเป็นห้องแสดงนิทรรศการหมุนเวียน นิทรรศการถาวร 15 ห้อง จัดแบ่งตามเนื้อหาสาระ นับตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคสร้างบ้านสร้างเมือง ล่วงเลยผ่านวันเวลาอันรุ่งเรืองและเสื่อมถอย เปลี่ยนแปลงจวบจนเป็นเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน
เชียงใหม่มีอายุกว่า 700 ปีมาแล้ว ทางด้านสถาปัตยกรรม ตั้งแต่โบราณมาแล้วที่เชียงใหม่รับเอารูปแบบการสร้างบ้านแปงเมืองมาจากหลายท้องถิ่น สังเกตได้จากการก่อสร้างวัดวาอาราม โบสถ์ วิหารต่าง ๆ ซึ่งมีอิทธิพลจากละโว้ พม่า ไทยใหญ่ ผสมกลมกลืนกันจนเป็นรูปแบบพิเศษของล้านนาซึ่งมีทั้งงานไม้ งานปูนปั้น ประดับกระจก โดยเฉพาะเครื่องไม้ เนื่องจากเชียงใหม่มีป่าไม้จำนวนมหาศาล จึงเกิดการฝึกปรือฝีมือในการทำงานไม้ขึ้นอย่างดี
ในเชิงช่าง งานศิลปหัตถกรรมของเชียงใหม่ก็โดดเด่นอย่างมาก เนื่องจากมีชนชาติต่าง ๆ เข้ามาอยู่ในพื้นที่ และมักมีช่างฝีมืออยู่ด้วยจำนวนมาก รวมทั้งด้วยความเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ของล้านนา จึงมีช่างเครื่องเงินจากวัวลายในรัฐฉานอพยพมาตั้งรกราก (สมัยก่อนการค้าขายจะใช้โลหะ “เงิน” เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้า) และสร้างสรรค์เครื่องเงินอันเป็นเอกลักษณ์ ด้วยการผสมผสานลวดลายทั้งแบบเชียงใหม่ ลายเมืองดอกฝ้าย หรือพวกทรงม่าน ลายม่าน ที่งดงามแปลกตาขึ้น
นอกจากนี้ยังมีชาวไทยเขินซึ่งมาจากเซียงตุง นำเครื่องเขินเข้ามาจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ของชาวเชียงใหม่ งานหัตถกรรมอื่น ๆ เช่น การทอผ้า ทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม ได้พัฒนา รูปแบบเป็นของตนเอง อย่างผ้าชิ้นตีนจกแม่แจ่ม หรือ “ฝ้ายตอมือ” ที่ทอใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มในทุกพื้นที่ งานจักสานเครื่องใช้ไม้สอยจากไม้ใผ่ก็มีจำนวนมาก เพื่อใช้บรรจุผลิตผลทางการเกษตร อีกทั้งใช้ในชีวิตประจำวัน เนื่องจากมีป่าไผ่มาก ซึ่งไผ่ทางภาคเหนือมีชนิดที่มีลำต้นอวบใหญ่ เนื้อหนาใช้ประโยชน์ได้มาก การทำกระดาษสาเพื่อนำไปทำร่ม รวมถึงการที่มี “ดิน” ดีสามารถนำมาใช้ทำเครื่องปั้นดินเผาได้หลากหลายรูปแบบ
งานแกะสลักไม้ก้เป็นงานที่ “สล่า” หรือช่างชาวเชียงใหม่เชี่ยวชาญ แม้แต่เด็ก ๆ ก็สามารถแกะสลักไม้ได้ และด้วยศรัทธาต่อศาสนาอย่างแรงกล้า สิ่งประดับวิหาร ศาลา โบสถ์ จึงเป็นของ ที่ทำขึ้นอย่างดีที่สุด งามที่สุด ซึ่งยังพบเห็นได้ทั่วไปในทุกอำเภอ
เชียงใหม่ยังมีประเพณีและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง โดยเฉพาะชนกลุ่มใหญ่ที่เป็นชาวไทยโยน หรือไทยยวน มีประเพณีและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ในรอบปีมีทั้งการเถลิงศก ในวันปี๋ใหม่เมืองหรือวันสงกรานต์ การบูชาเสาอินทขิลเมื่อเริ่มฤดูกาลเพาะปลูก ความคิดเรื่องการปันแบ่งช่วยเหลือเกื้อกูลกันก็เห็นได้จากประเพณีตานก๋วยสลาก หรือบุญข้าวล้นบาตร ที่ถวายสิ่งของ ข้าวสาร แก่พระภิกษุสามเณร และยังเผื่อแผ่ไปถึงคนยากคนจน
ประเพณีเฉพาะของเชียงใหม่ยังมีอีกมากทั้งที่เกี่ยวเนื่องกับ “ผี” และ “ศาสนา” เช่น การลอยโคมเพื่อลอยความทุกข์ ก็ร่วมอยู่กับการฟังเทศน์มหาชาติ จุดผางประทีปเพื่อดบูชาศาสนา หรือการไหว้พระธาตุ คนทุกคนมีพระธาตุประจำปีเกิด เช่น คนเกิดปีจอต้องไปไหว้พระธาติจุฬามณีบนสวรรค์ เป็นต้น มีการทำตุงหรือธงยาว เพื่อใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่งานบุย งานบวช จนถึงงานศพ
คนเมืองมีภาษาเป็นของตนเอง ทั้งภาษาพูดที่เรียกว่า “คำเมือง” ซึ่งมีสำเนียงแตกต่างกันออกไปอีกตามท้องถิ่น และภาษาเขียน “ตัวเมือง” ซึ่งมักจะจารอยู่ใน “ปั๊บสา” คัมภีร์ใบลาน ที่พระภิกษุใช้อ่านเขียนเรียนพระธรรม และใช้บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ เช่น ตำนานจามเทวีวงศ์ ชินกาลมาลีปกรณ์
นอกจากนี้ยังมีดนตรีและการละเล่นพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น การตีกลองสะบัดชัย ซึ่งใช้เป็นสัญญาณออกศึก บอกข่าวในชุมชน หรือเป็นเครื่องประโคมฉลองชัย มีการเล่น “ค่าวซอ” ร้องบอกเล่าเรื่องราวคล้ายกับเพลงฉ่อยของภาคกลางหรือการ “ลำ” ของอีสาน มีเครื่องดนตรีเฉพาะ เช่น สะล้อ ที่คล้ายซอของภาคกลาง และมีซึงที่คล้ายกีตาร์ รวมกับเครื่องเป่า เครื่องเคาะอื่น ๆ วงสะล้อ-ซึงเล่นได้ทุกงาน พบอยู่เสมอทั้งในร้านอาหาร ศูนย์การค้าแม้แต่ภายในงานบุญตามบ้าน
ในงานบุญ งานปอย มักมีการฟ้อนประกอบ ซึ่งมีการฟ้อนพื้นเมือง ฟ้อนม่าน และฟ้อนเงี้ยว ที่พบเห็นกันบ่อยคือ การฟ้อนดาบ การฟ้อนเชิง เป็นการแสดงท่าทางการต่อสู้ ส่วนการฟ้อนสาวไหม ฟ้อนแล็บ ฟ้อนเทียน คิดค้นดัดแปลงขึ้นภายหลัง
[fbcomments]