ในตัวเมืองเชียงใหม่ จะมีคูเมือง ที่เป็นคูน้ำล้อมรอบไว้ทั้ง 4 ด้าน ลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม (เกือบจะเป็นสีเหลียมจัตุรัส) โดยด้านทั้ง สี่มีความยาวเกือบจะเท่ากัน คูเมืองนี้สร้างพร้อมเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์โดยพญามังรายมหาราชเมื่อ ปีพ.ศ 1839 ซึ่งเชียงใหม่จะมีอายุครบ 720 ปีในปี 2559 รอบคูเมือง ก็จะประกอบด้วยประตู 5 ประตูเมือง และมุมหรือภาษาเหนือเรียกแจ่ง”ทั้งหมด 4 แจ่ง ทำความรู้จักกับ 5 ประตูดังนี้เลยครับ
ถ้าสามารถจำชื่อประตูเมืองได้ก็สามารถใช้เป็นพิกัดบอกทิศทางในการขับขี่รถ รอบคูเมืองได้อย่างไม่หลงทางวนปวนมาอีกด้วยครับ เพราะแต่ละประตูจะมุ่งออกไปยังสถานที่สำคัญๆ
ประตูสวนดอก
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของคูเมือง ที่มาของชื่อเนื่องจากบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของพระราชอุทยานของพญามังรายมหาราช ซึ่งเต็มไปด้วยสวนดอกไม้และต้นพะยอม
ประตูแสนปุง หรือประตูสวนปุง
ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของคูเมือง คนเชียงใหม่มักเรียกว่า “ประตูสวนปรุง” ประตูนี้เป็นประตูที่เจาะกำแพงสร้างขึ้นใหม่ในสมัยพญาสามฝั่งแกน เนื่องจากเพื่อความสะดวกแก่พระราชชนนีที่โปรดประทับอยู่ตำหนักนอกกำแพงเมือง จะได้ทรงเสด็จมาสักการะพระเจดีย์ จึงโปรดให้เจาะกำแพงเมือง นับแต่อดีตหากมีการเสียชีวิตภายในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่จะต้องน้ำศพออกจากคูเมืองผ่านประตูนี้ เท่านั้นซึ่งก็ยังยึดถือประเพณีนี้อยู่จนถึงปัจจุบัน
ประตูช้างเผือก
ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของคูเมืองเดิมชื่อ ประตูหัวเวียง สร้างพร้อมกับเมืองเชียงใหม่ถือเป็นประตูชัยตามความเชื่อของบรรพชนที่ให้เปิดทักษาประตูเมือง ให้รับพลังเดชแห่งเมืองทางทิศเหนือของเมืองเชียงใหม่ หากเดินทางออกจากตัวเมืองเชียงใหม่ด้วยประตูช้างเผือกจะมุ่งหน้าสู่ อำเภอแม่ริม
ประตูท่าแพ
ตั้งอยูทางทิศตะวันออกของคูเมืองเนื่องจากทิศตะวันออกของคูเมืองเป็นแมน้ำปิง การเดินทางในสมัยก่อนต้องเดินทางทางน้ำ เมื่อขึ้นจากแพหรือเรือจะเข้าทางประตูนี้จึงได้ชือว่าประตูท่าแพ ซึ่งเป็นประตูที่นักท่องเที่ยวรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะเป็นจุดตั้งต้นของถนนคนเดินทาแพในวันอาทิตย์ อีกทั้งยังเป็นลานจัดกิจกรรมประเพณีต่างๆ ของเมืองเชียงใหม่อยู่เป็นประจำตลอดทั้งปี
ประตูเชียงใหม่
ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของคูเมือง เป็นประตูที่เป็นจุดตั้งต้นของถนนคนเดินวัวลายในวันเสาร์ บริเวณประตูเชียงใหม่ จะเป็นที่ตั้งของตลาดประตูเชียงใหม่นักท่องเที่ยวมักแวะมาชิมของอร่อยที่ตลาดนี้ ด้านหน้าตลาดจะมีคิวรถสองแถว เพื่อเดินทางไปอำเภอที่อยู่ทางทิศใต้ เช่น หางดง สันป่าตอง แม่แจ่ม ฯลฯ เรียกได้ว่าคึกคักเนื่องแน่นด้วยผู้คนตลอดทั้งวัน