Home ตำบล ตำบลไชยสถาน

ตำบลไชยสถาน

1463

ตำบลไชยสถาน แบ่ง  8 หมู่บ้าน หมู่ 1 บ้านต้นโชคหลวง หมู่ 2 บ้านศรีสองเมือง หมู่ 3 บ้านศรีบุญเรือง หมู่4 บ้านต้นยางหลวง หมู่ 5 บ้านยวม หมู่ 6 บ้านโพธิมงคล หมู่ 7 บ้านเชียงขาง หมู่ 8 บ้านต้นยางหลวง รหัสไปรษณีย์ ตำบลไชยสถาน อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ รหัสไปรษณีย์ 50140

ประวัติความเป็นมาตำบลไชยสถาน

ตำบลไชยสถาน  ได้ชื่อจากการตั้งชื่อวัดไชยสถาน หรือใจสถาน  อันเป็นชื่อที่ตั้งให้กับ หนานใจ  ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งวัดขึ้นจากวัดร้างชื่อวัดน้อย  ในปี พ.ศ. 2387  ต่อมาเมื่อมีการขยายพื้นที่ของอำเภอ จึงได้เพิ่มเขตปกครองท้องถิ่นขึ้น  ตั้งเป็นตำบลไชยสถานตามชื่อของหนานใจ  และเปลี่ยนเป็นไชยสถาน อันหมายถึง  สถานที่อันเป็นชัยยะมงคล ตำบลไชยสถาน ตั้งอยู่ในเขตการปกครองของ อำเภอสารภี

บ้านต้นโชคหลวง  มีพื้นที่ประมาณ  ๔๕  ไร่  มีรูปลักษณ์เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ไม่ปรากฏปีที่สร้างและผู้สร้าง  ข้อสันนิษฐานของชาวบ้านว่า  ตั้งชื่อบ้านต้นโชคหลวง  ตามชื่อต้นโชค หรือ ต้นตะครือป่าโชค  ซึ่งมีอยู่บริเวณนี้  มีบอนมาก  ชาวบ้านนิยมปลูกถือว่าเป็นไม้มงคล

บ้านศรีสองเมือง  หมู่  ๒  เดิมชื่อว่า บ้านพันกลอย    ออกเสียง  “ ปันก๋อย ”  กลอย  เป็นพืชมีหัว   ตระกูลมัน  นำหัวมาตมกิน  หรือนึ่งกินได้   มีพื้นที่ประมาณ  ๑๖๐  ไร่  มีรูปลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า  แต่เดิมหมู่บ้านนี้เต็มไปด้วยสัตว์ต่าง ๆ มากมาย  เช่น  งู  เสือ  ฯลฯ  เป็นป่ารก  จนชาวบ้านไม่กล้าที่จะเข้าไป  จึงเรียกว่า  พันกลอย  (เป๋นดีกั๊ว)  ต่อมามีพระภิกษุได้พาชาวบ้านหักร้างถางพง  พบซากเจดีย์  อุโบสถ  จึงทำการบูรณะให้เป็นศูนย์กลางของการตั้งบ้าน  (สร้างหมู่บ้าน)  เรียกชื่อว่า  วัดพันกลอย  และได้มีคำบอกเล่าว่า  บริเวณกลางประตูวัดด้านเหนือ  ผู้สร้างได้บรรจุเต่าทองคำไว้  และเขียนลายแทงว่าให้ขุดขึ้นมาได้สำหรับบูรณะวัด  และให้ชื่อว่า  บ้านพันกลอย  บริเวณใกล้ ๆ กันพบวัดร้างอีก  ๒  วัด  ตั้งเฉียงเป็นสามเหลี่ยมเรียกว่า  วัดสามเส้า  ต่อมาทั้ง  ๓  วัดนี้ได้ร้างไป  จนกระทั่งพระภิกษุเทพินได้บูรณะขึ้นใหม่  เปลี่ยนชื่อเป็นวัดศรีสองเมือง  หมู่บ้านนี้จึงได้ชื่อตามชื่อวัดว่า  บ้านศรีสองเมือง  อันหมายถึง  สะหรี  (มิ่งขวัญ)  ของเมือง (บ้าน)  ชาวบ้านอพยพมาอยู่ส่วนใหญ่จะอพยพมาจากบ้านต้นโชตหลวง

บ้านศรีบุญเรือง  หมู่  3  มีพื้นที่  471  ไร่  รูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า  เดิมชื่อ บ้านโรงวัว  จากคำบอกเล่า ๆ ว่า  บ้านนี้เป็นที่ตั้งโรง (ผาม)  สำหรับเลี้ยงวัวของเจ้านายในเมืองเชียงใหม่  เพื่อจะใช้ในการขนข้าวที่เกี่ยวแล้วไปเก็บไว้ในยุ้งฉาง  ภายหลังเมื่อไม่มีการเลี้ยงวัว  ชาวบ้านจึงจั้งชื่อใหม่เป็นบ้านศรีบุญเรือง  อันหมายถึง  ต้นโพธิ์  (ศรี – สะหรี)  ที่ผู้มีบุญนำมาปลูกไว้เพื่อเป็นที่เคารพบูชาเพื่อความเป็นศิริมงคล  มีความเจริญรุ่งเรือง

บ้านนันทาราม   หรือ นันตะราม  หมู่  ๔  มีพื้นที่ประมาณ  ๒๘๙  ไร่  ลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู  หมู่บ้านนี้เป็นชาวไทยเขิน  ซึ่งอพยพมาจากเมืองเชียงตุงในช่วงของพระเจ้ากาวิละ  นำโดยส่างนันต๊ะ  เมื่อมาตั้งบ้านจึงตั้งชื่อตามผู้นำ  ซึ่งแต่เดิมชาวบ้านจะประกอบอาชีพทำเครื่องเขิน  เครื่องเงิน  ต่อมาชาวบ้านบางกลุ่มได้อพยพไปอยู่ในเขตอำเภอเมือง  (บ้านนันทาราม)  และที่อำเภอหางดง  (บ้านหารแก้ว)  แต่ก็ยังไปมาหาสู่กันจวบจนปัจจุบัน

บ้านยวม  (ริมกวง)  หมู่  5  มีเนื้อที่ประมาณ  580  ไร่  จากคำบอกเล่าของผู้ใหญ่บ้านได้ความว่า  สร้างขึ้นประมาณ  พ.ศ. 2350  รูปลักษณ์ของหมู่บ้านคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้า  นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านเล่าอีกว่า  บริเวณที่ตั้งหมู่บ้าน  มีต้นยวม  ขึ้นอยู่หนาแน่น  ชาวบ้านยังได้เก็บไปเป็นอาหาร  และอีกกระแสหนึ่งเล่าว่า  ชาวบ้านที่มาร่วมกันสร้างบ้านแปลงเมืองนั้น  เป็นชาวไตที่อพยพมาจากบ้านยวม  ในเขตของพม่า  เมื่อมาตั้งบ้านจึงใช้ชื่อตามบ้านเดิมที่ตนอพยพมา

บ้านโพธิมงคล  หมู่   6   เดิมชื่อว่า  บ้านมังกะละโป  สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2400  มีพื้นที่ประมาณ  130  ไร่  หัวหน้าทหารพม่าเป็นผู้ก่อตั้งขึ้น  มีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ประวัติความเป็นมาจากตำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า  สมัยสงครามโลกครั้งที่  1  ได้มีทหารพม่านำกองทัพมาพัก ณ ที่แห่งนี้  แล้วสร้างวัดเพื่อเป็นสถานที่พัก  เพื่อให้จิตใจสงบ  หัวหน้าทหารพม่า ชื่อ มังกะละ  ชาวบ้านเรียกว่า  วัดมังกะละโป  (คำว่า  โป  ในภาษาพม่า  แปลว่า หัวหน้า)    ตามชื่อผู้สร้าง  มีข้อน่าสังเกตว่า  วัดนี้จะหันหน้าไปทางทิศเหนือซึ่งแตกต่างไปจากวัดในละแวดอื่น  ซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก  และต่อมาชาวบ้านที่อยู่ในละแวกนั้นจึงเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า  มังกะละโป    ต่อมาชาวบ้านจึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่ว่า  หมู่บ้านโพธิมงคล

บ้านเชียงขาง   หมู่  7   มีพื้นที่ประมาณ  1,700  ไร่  รูปลักษณ์ของหมู่บ้านเป็นรูปสามเหลี่ยม  ตั้งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2385  ชาวบ้านอพยพมาจากบ้านเชียงขาง  อำเภอเชียงแสน  จังหวัดเชียงราย  เมื่อมาตั้งบ้านก็ใช้ชื่อบ้านเดิมที่เคยอยู่  ประกอบอาชีพทำของ  (เหล็กหล่อ)  เป็นกะทะ  เรียกตามภาษาชาวบ้านว่า  หม้อขาง  และการค้าขายระหว่างเมืองเชียงใหม่  เชียงแสน และเชียงตุง  โดยใช้วัวต่าง ม้าต่าง ว่าเป็นพ่อค้าวัวต่าง

 บ้านต้นยางหลวง  หมู่  ๘   มีพื้นที่ประมาณ  ๒๗๐  ไร่  รูปลักษณ์ของหมู่บ้านเป็นรูปวงกลม  จากคำบอกเล่า ๆ ว่า  มีพระภิกษุทางใต้ได้ธุดงค์มาเห็นบริเวณนี้ร่มครึ้มด้านต้นยาง  และป่าละเมาะ  จึงสร้างวัดขึ้น  เรียกชื่อวัดต้นยางหลวง  ตามต้นยางที่มีอยู่บริเวณนั้น  เมื่อชาวบ้านมาพบพระภิกษุเกิดศรัทธาเลื่อมใสพากันอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่รอบ ๆ  และตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อวัดว่า  บ้านต้นยางหลวง

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สวนปู่หนาน  ศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ต.ไชยสถาน หมู่ที่ 1  บ้านต้นโชคหลวง ตำบลไชยสถาน อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เปิดให้เยี่ยมชมทุกวัน โดย นายถวิล  ณ สุนทร  โทร.081-2898026

วัดศรีสองเมืองหมู่ที่ 2  บ้านศรีสองเมือง ตำบลไชยสถาน อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่เปิดให้เยี่ยมชมทุกวัน เป็นวัดประดิษฐานหลวงพ่อขาว ที่ตามความเชื่อกันว่าองค์ท่านมีความศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องของการขอมีบุตร ตามคำบอกกล่าวของคนแก่คนเฒ่าที่ว่า มีคู่สามีภรรยาที่อยากมีบุตร มาไหว้องค์ท่านแล้วได้บุตรสมดังตั้งใจกันหลายคู่ และยังเป็นที่ประดิษฐานองค์พระเจ้าทันใจ และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นอันงดงาม

แหล่งท่องเที่ยวด้านอาชีพ

บ้านหงส์นวล ตั้งอยู่เลขที่ 116 หมู่ที่ 3 ซอย 6 บ้านศรีบุญเรือง ตำบลไชยสถาน อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เปิดให้เยี่ยมชมทุกวัน เป็นโรงเรียนสอนทำอาหารไทยให้แก่ชาวต่างชาติ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาท่องเที่ยวและเรียนทำอาหารไทยอย่างไม่ขาดสาย

บัวสะหลี รีสอร์ท

บัวสะหลี รีสอร์ท เป็นรีสอร์ทท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติ ที่พร้อมให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบบรรยากาศที่เป็นส่วนตัว บรรยากาศดีๆใจกลางหมู่บ้านต้นโชคหลวง เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการหลีกหนีบรรยากาศความวุ่นวายของชุมชนเมือง  บัวสะหลีรีสอร์ทพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกท่าน ด้วยห้องพักแบบห้องชุด และบ้านพักเป็นหลัง พร้อมสระว่ายน้ำ ตั้งอยู่เลขที่ 50 หมู่ที่ 1 ต.ไชยสถาน อ.สารภี จ.เชียงใหม่

งานประเพณียี่เป็ง ตำบลไชยสถาน

ตำบลไชยสถานได้จัดให้มีประเพณียี่เป็ง ตำบลไชยสถาน ขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในทุกๆปี ในช่วงงานประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ ซึ่งภายในงานประเพณียี่เป็งตำบลไชยสถาน จะมีการแสดงทางวัฒนธรรม การประกวดต่างๆ อาทิเช่น การประกวดนางฟ้าจำแลง การประกวดหนูน้อยนพมาศ การประกวดนางนพมาศ การประกวดกระทงประดิษฐ์ การประกวดขบวนแห่กระทงใหญ่อันอลังการ และภายในงานยังมีงานมหรสพ รื่นเริงต่างๆ เช่นคอนเสริตศิลปินล้านนา การแข่งขันชกมวยไทย การแสดงพลุ ดอกไม้ไฟ(บอกไฟ) รวมถึงการออกร้านของกลุ่มอาชีพต่างๆ กลุ่มสตรีแม่บ้าน กลุ่มเยาวชนตำบลไชยสถาน เป็นต้น

จำนวนประชากรใน ตำบลไชยสถาน

จำนวนหลังคาเรือน : 1,381 หลังคาเรือน
จำนวนประชากร : 4,389 คน จำนวนผู้สูงอายุ : 619 คน
จำนวนเด็กแรกเกิด ถึง 6 ปี : 210 คน จำนวนผู้สูงอายุ ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง : 417 คน
จำนวนสตรีตั้งครรภ์ : 22 คน จำนวนผู้สูงอายุ ที่ช่วยตนเองไม่ได้ : 1 คน
จำนวนสตรีอายุ 35 ปี ขึ้นไป : 1,346 คน จำนวนผู้พิการ : 64 คน

 

ขอบคุณข้อมูลเทศบาลตำบลไชยสถาน


ติดต่อเช่ารถพร้อมคนขับ/ซื้อสินค้า/โฆษณาข่าวสาร
Add friend ที่ @topcm
เพิ่มเพื่อน